หุ้น “นอนแบงก์” ป่วน! “ออมสิน” หั่นดอกเบี้ยชิงลูกค้า

หุ้น “นอนแบงก์” ป่วน!  “ออมสิน” หั่นดอกเบี้ยชิงลูกค้า

แตกตื่นกันไปทั้งตลาดหลัง “ธนาคารออมสิน” เตรียมกระโดดลงสนามรุกธุรกิจสินเชื่อนอนแบงก์ แถมประกาศชัดจะหันดอกเบี้ยลงต่ำกว่าคู่แข่ง 8-10% หวังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทำเอาผู้ประกอบการรายอื่นๆ ร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน

โดย “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการป้ายแดงแบงก์ออมสิน ระบุว่า การที่ธนาคารตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์ เพราะมองว่าสินเชื่อที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป 24-28% ต่อปี จนกลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับผู้บริโภค

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าว่าจะเข้าสู่ธุรกิจนอนแบงก์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยพร้อมเปิดโอกาสให้ลูกค้าจากทุกที่เข้ามารีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยลดภาระประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม เพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

และมองว่าการที่ออมสินนำร่องลดดอกเบี้ย 8-10% จะกดดันให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องหั่นดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อรักษาฐานลูกค้า ซึ่งจะดึงให้อัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดปรับตัวลดลงอัตโนมัติ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ทั้งระบบ 25.38 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 481,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคลและบัตรกดเงินสด 48%, บัตรเครดิต 31% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 21%

แน่นอนว่าการที่ออมสินเป็นแบงก์รัฐจึงค่อนข้างมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ประกอบการภาคเอกชน ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เนื่องจากมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน ทำให้การที่ธนาคารจะดึงดอกเบี้ยลงมาถึง 10% ไม่ใช่เรื่องยาก

ดังนั้น เอกชนคงต้องปรับกลยุทธ์ หันมาตั้งรับกันเต็มที่ เพราะการแข่งขันจะทวีความรุนแรงขึ้น มีโอกาสที่จะถูกแย้งลูกค้าไปไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชั้นดี กระทบความสามารถในการทำกำไร

สำรวจดูผู้เล่นเอกชนที่อยู่ในตลาดหุ้นมีอยู่หลายราย ปรากฏว่าถูกเทขายตามๆ กันมาในการซื้อขายล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (24 ก.ค.) ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามภาวะตลาดที่ลงหนัก ประกอบกับมีจิตวิทยาเชิงลบจากประเด็นแบงก์ออมสินเข้ามากดดันอีกจึงยิ่งซ้ำเติม

นำโดยบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ปิดที่ 51.75 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 4.61% หลังยืนบวกมาได้ 3 วัน เพราะหุ้นลูกบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ประกาศงบฯ ออกมาสวยมาก กำไรไตรมาส 2 ปี 2563 พุ่งแรง 2,574%

ส่วนบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เจ้าของมาร์เก็ตแชร์สินเชื่อรถจักรยานยนต์อันดับ 1 ของประเทศ พ่วงด้วยผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ครบวงจร เช่น สินเชื่อรถยนต์, สินเชื่อรถเพื่อการเกษตร, สินเชื่อบุคคล นาโนไฟแนนซ์ ฯลฯ ราคาไหลลงมาปิดที่ 51 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 4.67%

บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS เจ้าของบัตรอิออนที่หลายคนรู้จัก ร่วงมาปิดที่ 112.50 บาท ลดลง 3 บาท หรือ 2.60% ส่วนบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC อีกหนึ่งผู้ประกอบการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลรายใหญ่ของประเทศถูกขายเช่นกัน ปิดที่ 32.50 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.76%

สำหรับภาพรวมทั้งปีดูแล้วกลุ่มนอนแบงก์คงไม่ได้หวือหวาเท่าไหร่ แม้ผลประกอบการจะไม่ได้อ่อนแอเท่ากลุ่มแบงก์ เพราะเชื่อว่าความต้องการสินเชื่อยังมี หลายคนเดือดร้อนต้องการใช้เงินในช่วงที่เกิดวิกฤตแบบนี้ แต่ปัญหาสำคัญที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ลดลง กระทบรายได้ดอกเบี้ย และหนี้เสียเร่งตัวขึ้น นำมาสู่การตั้งสำรองที่สูงขึ้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งปรับลดเพดานดอกเบี้ยทุกชนิด ทั้งสินเชื่อบุคคล จำนำทะเบียน และบัตรเครดิต เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พ่วงด้วยการยืดหนี้ เลื่อนการผ่อนชำระ ลดการผ่อนขั้นต่ำ ฯลฯ กดดันมาร์จิ้นลดลง และในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อออมสินลงมาเล่นในธุรกิจนอนแบงก์เต็มตัว จะยิ่งทำให้การแข่งขับดุเดือดขึ้น กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ให้กับธุรกิจ