บางสิ่งที่หายไป ในวิกฤติโควิด

บางสิ่งที่หายไป ในวิกฤติโควิด

ขณะที่วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมทุกระดับในวงกว้างกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้ประกอบการทุกขนาดได้รับผลกระทบ แต่ความรู้สึกร่วมของสังคมในการก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ปรากฏน้อยกว่าโดยเฉพาะภาคการเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่วุ่นวายกับปรับ ครม.

หลายฝ่ายออกมาประเมินว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าวิกฤติโควิด-19 โดยวิกฤติต้มยำกุ้งที่ครบรอบ 23 ปี ของการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยเงินบาทถูกโจมตีจนหลายฝ่ายตั้งตัวไม่ติด บริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งปิดตัว ในขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายเข้าข่ายล้มละลาย และเกิดการเลิกจ้างทำให้แรงงานในเมืองจำนวนไม่น้อยต้องกลับไปต่างจังหวัด

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยต้องเข้าสู่โครงการกู้เงินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อนำเงินมาพยุงเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟกำหนด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจกับความเชื่อมั่นในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จนทำให้ พล.อ.ชวลิต ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นนายชวน หลีกภัย การเปลี่ยนรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักธุรกิจได้ระดับหนึ่ง เพราะได้แสดงถึงความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

วิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นปัญหาคู่ขนานระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจกับความเชื่อมั่นในรัฐบาลเช่นกัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ยังไม่เห็นภาพชัดในการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีรัฐมนตรีทยอยลาออก และเป็นรัฐมนตรีที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน

ภาพหลายภาพที่เคยเกิดขึ้นได้หายไปไม่ว่าจะเป็นเห็นความพยายามของฝ่ายการเมืองเหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาพการมีส่วนร่วมของสังคมในฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อไอเอ็มเอฟเข้ามากำหนดหลายเงื่อนไขกับรัฐบาลไทย ในช่วงนั้นประชาชนระดมนำเงินตราต่างประเทศและทองคำออกมาบริจาคเพื่อเพิ่มทุนสำรองของประเทศ รวมมีการบริจาคให้ธนาคารแห่งประเทศไทย 24 ครั้ง เป็นทองคำแท่งหนัก 13,051 กิโลกรัม และเงินตราต่างประเทศอีก 10,457 ล้านดอลลาร์

ในขณะที่วิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมทุกระดับในวงกว้างกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งผู้ประกอบการทุกขนาดได้รับผลกระทบ มีการเลิกจ้างที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าอาจสูงถึง 8 ล้านคน แต่ความรู้สึกร่วมของสังคมของการก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ปรากฏน้อยกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะภาคการเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่วุ่นวายกับปรับ ครม. ดังนั้นถึงเวลาภาคการเมืองต้องชี้นำสังคมในการแก้วิกฤติครั้งนี้ให้มากขึ้น