‘ดีจีเอ’ บุกอีอีซีปั้นศูนย์นวัตกรรม

‘ดีจีเอ’ บุกอีอีซีปั้นศูนย์นวัตกรรม

‘ดีจีเอ’ ผนึก ม.เกษตรฯ พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กลางพื้นที่อีอีซี โชว์ศักยภาพนักพัฒนานวัตกรรม ปั้นต้นแบบบริการดิจิทัลภาครัฐ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลในไทย

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. (ดีจีเอ) กล่าวว่า ได้เปิดโครงการศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ ( Digital Government Technology & Innovation Center : DGTi) ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยต้องการให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลภาครัฐไทยแบบครบวงจร เพื่อผลักดันและสนับสนุนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค้นคว้าและการวิจัยองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถการให้บริการภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ทั้งนี้ มีนายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มาร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดด้วย โดยนายพิเชษฐ กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาครัฐไทยเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมดิจิทัลมีพื้นที่นำผลงานออกสู่การใช้ประโยชน์ การขยายผลต่อยอดสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ ยังเป็นช่องทางหลักในการจับคู่ ความต้องการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ให้สามารถเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมนำไปประยุกต์ใช้งานทั้งในด้านการบริหารและการให้บริการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม โดยดีจีเอและหน่วยงานพันธมิตรพร้อมสนับสนุนให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะสำหรับแผนดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและผลักดันการพัฒนาโครงการนวัตกรรมต่างๆ ของภาครัฐให้สำเร็จ

นายสุพจน์ กล่าวว่า ดีจีเอมีพันธกิจสร้างบริการดิจิทัลให้ประชาชน การบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัย

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ดีจีเอ จะเข้ามามีส่วนสำคัญขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลของไทย โดยดีจีเอ เห็นศักยภาพในพื้นที่ของอีอีซี ที่มีความพร้อมทุกด้าน จึงได้ริเริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าวขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา”

ความร่วมมือดังกล่าว เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลอย่างเป็นระบบ เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะดึงดูดให้เกิดความร่วมมือทั้งจากมหาวิทยาลัย เอกชน วิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) และประชาชน มาร่วมคิดออกแบบสร้างสรรค์ ค้นหาแนวทางปรับปรุงระบบบริหารจัดการ การบริการภาครัฐแบบใหม่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประเมินผลโครงการ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทันสมัย เน้นหารือกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลการให้บริการจะถูกจัดเก็บเพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ (โอเพ่น ดาต้า) ให้กับวิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาบริการภาครัฐต่อไป

เขา คาดว่า จากโครงการนี้จะเริ่มเห็นผลดำเนินการโครงการอย่างเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีงบประมาณ 2563 ในการพัฒนาโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมภาครัฐในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปสู่ต้นแบบการบริหารจัดการพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลในปี 2564-2565 สร้างมูลค้าเพิ่มในการส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล 10,000 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว และที่สำคัญจะเห็นการยกระดับทักษะ การแก้ไขปัญหาภาครัฐผ่านพันธมิตร

ทั้งสามารถแบ่งปันองค์ความรู้สู่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจากนี้ จะมีการเปิดศูนย์ไปทั่วประเทศโดยร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยของแก่น ฯลฯ โดยดีจีเอต้องการสร้างแพลตฟอร์มให้หน่วยงานภาครัฐเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะไปแก้ไขปัญหาประชาชนได้