'ประยุทธ์' เขย่าโควตาพรรคร่วมป่วน ปมปรับ ครม. แลกกระทรวงศก. ปชป.-ภท.แท็กทีมวอล์กเอาต์กมธ.งบ

'ประยุทธ์' เขย่าโควตาพรรคร่วมป่วน ปมปรับ ครม. แลกกระทรวงศก. ปชป.-ภท.แท็กทีมวอล์กเอาต์กมธ.งบ

พปชร. ส่งโผวันนี้ "สุริยะ" คุมพลังงาน จับสัญญาณสลับเก้าอี้กระทรวงเศรษฐกิจ นายกฯเล็งยึดเข้าโควตากลาง ส่งผลพรรคร่วมรัฐบาลป่วน จับตาดึง “คมนาคม” คืนจาก ภท. “พาณิชย์” คืนจากปชป. 2 พรรคป่วน กมธ.งบฯ 64 จับมือวอล์กเอาต์ล่มประชุม

พปชร.เคาะรมต.โควตาพรรค

ต่อมาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวถึง การปรับครม.ว่า ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ และยืนยันว่า พปชร.ไม่มีสัดส่วน พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวตัดสินใจว่าใครจะอยู่ใครจะไป 

ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ ที่ระบุว่า รมต.พลังงาน เป็นโควตาของพรรค พล.อ.ประวิตร ระบุว่า คิดว่าไม่มีอะไร พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่เคยมีสัญญาใจกับนายสุริยะเรื่องตำแหน่ง รมว.พลังงาน " สัญญาใจอะไรไม่มี จะเอาสัญญาใจที่ไหนมา ผมไม่เคยไม่มีสัญญาใจกับใครทั้งนั้น” 

จับตาเขย่าโควตาพรรคร่วมใหม่

ขณะที่สถานการณ์ในโหมดเตรียมปรับครม. แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือโควตารัฐมนตรี แต่ล่าสุดมีการส่งสัญญาณจะขอแลกกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ให้มาอยู่ในโควตากลาง และอยู่ในความดูแลของนายกฯ 

โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโควของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคปชป.กำกับดูแล และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นโควตาของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภท. กำกับดูแล

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 จะต้องมีเอกภาพ หากกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญอยู่ในความดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้การบริหารงานไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจติดขัด เนื่องจากแต่ละพรรคก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป

ภท.-ปชป.ป่วนล่มประชุมกมธ.งบฯ

ภายหลังมีกระแสข่าวนายกฯจะเขย่ากระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ถูกจับตาถึงท่าทีของพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วานนี้ (20ก.ค.) นายอุตตม สาวนายน ได้ยื่นลาออกจากประธาน กมธ.งบฯ ไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสัดส่วนของ ครม.จึงต้องให้ครม.เสนอชื่อบุคคลเข้ามาแทน 

 ขณะที่ในเวลา 13.00 น. ในการประชุม กมธ.งบฯ ได้มีวาระพิจารณาการจัดสรรงบประมาณในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ได้เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ จึงต้องปิดการประชุมกะทันหัน โดยประชุมได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง โดยในเวลา 16.10 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.งบฯ ได้แถลงว่า 

ในช่วงที่มีการซักถามอธิบดี 2 กรม จนเมื่อเวลา 15.30 น. ได้เกิดสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นคือกมธ.ฝ่ายรัฐบาล โดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.คนที่ 12 ได้เดินเข้ามาเสนอให้นับองค์ประชุม โดยที่พรรคฝ่ายค้านไม่ทราบเหตุผลมาก่อน ทำให้นายวราเทพ รัตนากร รองประธานคนที่ 3 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สั่งพักการประชุม 10 นาที เพื่อเปิดโอกาสให้พูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้น

จากนั้นเวลา 15.45 น. ได้เปิดประชุมอีกครั้ง นายชาดายังยืนยันที่จะเสนอให้นับองค์ประชุมเหมือนเดิม โดยมีผู้รับรอง 5 คน ปรากฏว่า กมธ.ซีกรัฐบาลทั้ง ปชป. ภูมิใจไทย และพรรคฝ่ายค้านได้เดินออกจากห้องประชุมไป เหลือเพียงพรรค พปชร. สุดท้ายทำให้องค์ประชุมมีเพียง19 คนไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงได้สั่งปิดประชุมเวลา 16.00 น และนัดประชุมใหม่พรุ่งนี้ 09.00 น.

แหล่งข่าวใน กมธ.อ้างด้วยว่า แกนนำพรรคภูมิใจไทยใน กมธ.หลุดปากพูดว่า “ทำอย่างนี้ ไม่เห็นหัวกัน ต้องเรียกเลขาธิการพรรคมาคุย”

ฝ่ายค้านงง กมธ.รัฐบาลล่มเอง

นายยุทธพงศ์ ระบุว่า “คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากภายในของรัฐบาลเองเพราะ กมธ.ในซีกฝ่ายค้านทั้งหมดอยู่ครบ ซึ่งนายวราเทพ บอกว่าเคยเป็นประธาน และรองประธานในการพิจารณางบมาหลายสมัยไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในลักษณะ กมธ.ซีกรัฐบาลเสนอนับองค์ประชุมเอง และซีกรัฐบาลพากันเดินออกหมด เรียกได้ว่าโดดเดี่ยวพลังประชารัฐ แสดงว่ารัฐบาลมีปัญหากันเอง เพราะฝ่ายค้านก็อยากให้การทำงานของกมธ.เดินหน้าไปได้ เพราะเรามีเวลาจำกัด ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 11 ก.ย.อาจเป็นผลการปรับครม.หรือไม่ ผมก็สงสัย ซึ่ง กมธ.พิจารณางบถือว่ามีความสำคัญมาก มีถึง 72 คน องค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่า 24 คน แค่นี้ก็ยังไม่ครบ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญและน่าวิตก ไม่ทราบว่าพรุ่งนี้เช้าจะเริ่มประชุมได้หรือไม่" 

ชี้“วราเทพ”ตัดสินใจเองไม่ได้

ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ที่ปรึกษา กมธ.จากสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในกมธ.ไม่มีการพูดคุยอะไรกันเลย ทำให้ไม่มีใครที่จะตัดสินใจในการทำงานได้ โดยเฉพาะนายวราเทพ ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย ต้องฟังเสียงจากคนข้างนอก จึงส่งผลให้ไม่มีใครทราบเลยว่าทิศทางของการทำหน้าที่ กมธ.จะเป็นอย่างไร

ล่าสุด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยได้มอบให้ทีมงานนำใบลาออกไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล