ปลูกฝัง 'การออมเงิน' ให้ลูกน้อยตั้งแต่วัยเด็ก ต้องทำอย่างไร?

ปลูกฝัง 'การออมเงิน' ให้ลูกน้อยตั้งแต่วัยเด็ก ต้องทำอย่างไร?

ส่อง 3 เคล็ดลับสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ในการสอนลูกน้อยให้รู้จัก "เก็บออมเงิน" ตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อจะได้รู้จักการวางแผนการเงินให้อนาคต

ปัจจุบันสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ทำท่าทำทางเหมือนจะดีขึ้น ก็กลับมาน่ากังวล และสร้างความหวาดระแวงอีกครั้ง สถานการณ์ของสถานที่หลายๆ แห่ง ก็ต้องหยุดชะงักไป หลังจากที่คาดว่าจะได้กลับมาเปิดปกติ ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดมาจากอะไร แต่สิ่งที่เราต้องทำเพื่อปกป้องตัวเราเองให้ดีที่สุด ก็คือ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง เมื่อต้องออกไปข้างนอก และต้องหมั่นล้างมืออยู่ตลอด นอกจากตัวเราแล้ว อย่าลืมดูแลผู้สูงอายุ และเด็กๆ ในบ้านด้วยนะครับ

ช่วงนี้เลยทำให้หลายๆ ท่าน ก็ยังคงมีเวลาอยู่กับคุณลูกเพิ่มมากขึ้นมาก เนื่องจากโรงเรียนยังไม่สามารถเปิดทำการได้เหมือนปกติ 100% วันนี้ก็เลยจะมีเคล็ดลับ ให้คุณพ่อ คุณแม่นำไปสอนลูกน้อยที่น่ารักของเรา ให้รู้จักเก็บออมเงิน ตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้ลูกของเราโตมาแล้วรู้จักเก็บออม รู้จักวางแผนการเงินของตัวเองกันตั้งแต่เด็กนั่นเองครับ

1.Role Model

Role Model หรือเรียกได้ว่า ตัวอย่างที่อยากให้ลูกเป็นนั่นเอง เพราะเด็กๆ ยังไม่ค่อยมีความคิดวิเคราะห์เท่ากับผู้ใหญ่ สิ่งแรกเลยที่เขาจะรู้สึก และซึมซับไปเป็นพฤติกรรมของตัวเอง ก็คือ การดูตัวอย่างจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือพี่น้องคนใกล้ตัว เหมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เลยครับ

เพราะฉะนั้น หากเราอยากให้ลูกรักของเรา รู้จักหมั่นเก็บออม ใช้สอยอย่างประหยัด รู้จักยับยั้งชั่งใจในการซื้อของ เราก็ควรทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกก่อนเลยเป็นอันดับแรก เช่น เวลาพาลูกออกไปทานข้าวนอกบ้าน เวลาสั่งอาหาร ก็ให้เขาเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากทานมากที่สุด และทานให้หมด ไม่ใช่สั่งมาแล้วทานอย่างละนิดอย่างละหน่อย และผลักให้พ่อแม่ทานต่อ

ซึ่งตัวเราเองก็ควรทำเป็นแบบอย่างแก่ลูกเช่นกัน ในการสั่งอาหารมื้อนั้น ก็ต้องมีการพูดคุยกันกับลูกก่อน เช่น คุณแม่อยากทานอันนี้มากเลยครับ คุณแม่สั่งอันนี้นะ แล้วก็ทานให้หมด เพื่อให้ลูกเห็นว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบของที่ตัวเองสั่งมา เป็นการใช้เงินอย่างรู้คุณค่าอย่างหนึ่งครับ

2.เก็บเล็กผสมน้อย

สิ่งต่อมานะครับ เราควรสร้างวินัยให้กับลูก โดยการปลูกฝังให้เขาเป็นคนรู้คุณค่าของเงิน เก็บเล็กผสมน้อยตลอด ให้เขาเห็นถึงเงินก้อนภายภาคหน้าเมื่อเขาสามารถเก็บเงินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เช่น การหยอดกระปุก เชื่อว่าคุณพ่อ คุณแม่หลายคน ก็ต้องเคยเจอกับสภาวะที่โดนคุณพ่อคุณแม่ของตัวเองสอนให้หยอดกระปุกเก็บเงินอยู่ทุกวันใช่ไหมครับ

ซึ่งคำสอนนี้ถือเป็นการสร้างวินัยให้ลูกได้เป็นอย่างดีเลยครับ เพราะจะทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมแบบนี้ในทุกๆ วัน ว่าเมื่อเขามีเงินเหลือจากการไปโรงเรียน ทุกเย็นเมื่อถึงบ้าน เขาจะต้องนำเงินที่เหลือออกมาหยอดใส่กระปุก เมื่อทำเป็นประจำทุกวันแล้ว ก็จะสร้างเป็นนิสัยประจำของลูก และเขาก็จะทำเองโดยที่เราไม่ต้องคอยบอกเลยครับ

และเมื่อหยอดกระปุกไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เราก็ควรที่จะนำออกมานับให้ลูกดู และถามลูกว่า อยากนำเงินที่ตัวเองเก็บ ไปใช้ซื้อของอะไรที่ตัวเองอยากได้ไหม หรืออยากเก็บออมเพิ่มเติม เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาทำต่อไปด้วยนะครับ

3.พูดคุยกับลูก

อย่าลืมข้อสำคัญอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ลูกของเราก็ยังเป็นเด็กอยู่ หากเขาทำอะไรไม่เป็นตามแผน หรือเกิดบางวันกลับบ้านมาแล้วไม่มีเงินเหลือกลับมาหยอดกระปุก ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แน่นอนอยู่แล้ว เพราะขนาดเราโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ เรายังเผลอไผลซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย หรือไม่จำเป็นมาได้เลย เด็กๆ ก็เช่นกันนะครับ

เพราะฉะนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เราต้องมีเวลามาพูดคุยกัน สอนลูกด้วยเหตุผลว่าอะไร คือ สิ่งจำเป็นและไม่จำเป็น คิดก่อนซื้อเสมอ และควรถามเขาถึงเหตุผลก่อน ไม่ใช่แบบเชิงตำหนิ หรือดุว่า ทำไมวันนี้เงินค่าขนมหมด เอาไปซื้ออะไร แม่ให้ไปตั้งเยอะนะ ควรคุยกับเขาด้วยน้ำเสียงที่ดี ราบเรียบ และถามปนสงสัยให้เขาค่อยๆ อธิบายออกมาเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่า จริงๆ ลูกเอาเงินไปใช้อะไรหมดครับ

จากสามข้อข้างต้น คุณพ่อ คุณแม่หลายๆ ท่านอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ขอให้ทำต่อไปนะครับ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหน ที่ยังไม่เคยทำ แล้วอยากให้ลูกรู้จักเก็บออมเงินของตัวเอง ก็เริ่มค่อยๆ สอนเขาตั้งแต่วันนี้ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ลูกก็จะซึมซับเอาสิ่งที่เราบอกทุกๆ วัน จนติดเป็นนิสัยเป็นของตัวเองไปเลยครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ