กกพ. จ่อเสนอยืดเซ็น “พีพีเอ”โรงไฟฟ้าเอสพีพีไฮบริด

กกพ. จ่อเสนอยืดเซ็น “พีพีเอ”โรงไฟฟ้าเอสพีพีไฮบริด

กกพ.ชง กบง.ยืดเวลาเซ็น“พีพีเอ” อีก 1 ปี ยืด “ซีโอดี” 6เดือน ถึง 1 ปี โครงการ เอสพีพี ไฮบริด 300 เมกะวัตต์ คาดเชื้อเพลิงชีวมวลเกิดได้จริงแค่ 50%

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่มีผู้ชนะการประมูล 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ ส.ค. 2560 พบว่า มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (วันที่ 13 ธ.ค. 2562) เพียงแค่ 3 ราย และยังเหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถลงนามได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ดังนั้น กกพ.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง. ) พิจารณาขยายกรอบระยะเวลาลงนาม PPA ให้กับอีก 14 รายที่เหลือออกไปอีก 1 ปี จากกรอบเดิม พร้อมเสนอขยายระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับโครงการที่ลงนาม PPA ไปแล้ว ออกไปอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่กรณี จากเดิมโครงการ SPP Hybrid Firm กำหนด CDO ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ฉะนั้น หาก กบง.เห็นชอบตามแนวทางที่ กกพ.เสนอแล้ว และผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ ในส่วนที่ยังไม่สามารถลงนาม PPA ได้ตามกำหนด ก็จะต้องถูกยกเลิกโครงการพร้อมจ่ายค่าปรับตามข้อกำหนด ของ กกพ.

“ตอนนี้ ก็รอประชุม กบง. เดิมกำหนดวันที่ 30 ก.ค.นี้ ซึ่งไม่ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน จะว่างเว้นหรือไม่ก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรค เพราะปลัดกระทรวงฯ ปฏิบัติภารกิจแทนได้”

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ กกพ.จะขอขยายระยะเวลาลงนาม PPA โครงการ SPP Hybrid Firm นอกไปนั้น เพื่อต้องการสนับสนุนให้โครงการฯเกิดขึ้นได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะเป็นโครงการที่จะเกิดประโยชน์ต่อต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ เนื่องจากโครงการที่เปิดประมูลแข่งขันที่ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำมาก โดยราคาที่เสนอขายไฟฟ้าในการประมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบัน ผู้ชนะการประมูลโครงการฯนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่จัดทำ EIA เสร็จแล้ว แต่ลงนามPPA ไม่ทันกรอบระยะเวลาที่กำหนดคือภายใน 13 ธ.ค.2562, 2.กลุ่มที่จัดทำ EIA ใกล้เสร็จ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดในโครงการดังกล่าว และมีโอกาสจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้คือภายใน 31 ธ.ค. 2564 และ 3. กลุ่มที่ยังจัดทำ EIA ไม่ผ่าน โดยแต่ละกลุ่มจะขยายเวลาออกไปเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับ กบง.จะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า โครงการฯนี้ สุดท้ายแล้วอาจเกิดขึ้นได้จริงเพียง 50% เท่านั้น เพราะหากดูจากผู้ชนะการประมูลที่เสนอเชื้อเพลิงชีวมวล จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ กลุ่มที่มีวัตถุดิบอยู่แล้ว เช่น โรงงานน้ำตาลต่างๆ ในส่วนนี้ จะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าแน่นนอน และอีกกลุ่มที่ต้องไปจัดหาวัตถุดิบ ด้วยการจัดซื้อ ซึ่งจะดำเนินการได้ยาก

สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm นั้น กกพ.ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 มีผู้ชนะการประมูลจำนวน 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายรวมทั้งสิ้น 300 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ โดยผู้ชนะประมูลแบ่งตามรายภาค ได้แก่ ภาคใต้ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 100.85 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 84.13เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 4 โครงการปริมาณเสนอขาย 71.02 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ และ ภาคกลาง 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 12 เมกะวัตต์