'พุทธิพงษ์' โชว์เคสใช้ 'ดิจิทัล' หนุนไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

'พุทธิพงษ์' โชว์เคสใช้ 'ดิจิทัล' หนุนไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

รมว.ดีอีเอส แถลงผลงานครบ 1 ปี ใช้ดิจิทัลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม หนุนไทยฝ่าวิกฤติสถานการณ์

159498135143

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในโอกาสพบปะสื่อประจำเดือนว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ทำให้เห็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เข้ามาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ เพื่อฝ่าวิกฤติ ซึ่งในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรง ได้ดำเนินหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสาร องค์กรต่างๆ ทำงานที่บ้านได้อย่างไม่สะดุด ร่วมกับเจ้าของเทคโนโลยีเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการด้านการแพทย์ของโรงพยาบาล สร้างโอกาสคนตกงานเข้าถึงแหล่งงานใหม่ เป็นต้น

โดยยกตัวอย่าง ผลงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด -19 ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต 5 ราย เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี-โทรฟรี 100 นาที, ร่วมกับ บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านในราคาถูก “เน็ตอยู่บ้าน”สนับสนุนการ ทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และการเรียนการสอนออนไลน์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา, การออก พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เพื่อรองรับให้หน่วยงานรัฐและเอกชน สามารถจัดประชุมออนไลน์ได้ตามกฎหมาย และมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม ที่เป็นมาตรฐานด้าน Security ขั้นต่ำในการดูแลความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น

รวมทั้ง สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยติดตาม และป้องกันควบคุมการขยายวงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่โดดเด่นและได้รับความนิยม อย่างเช่น “ไทยชนะ” สำหรับการ Tracking สถานที่ เพื่อการเดินทางรายบุคคล โดยใช้งานผ่านการเช็คอิน-เช็คเอ้าท์ ร้านค้า/สถานที่สาธารณะ มียอดผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 34 ล้านคน จำนวนร้านค้าลงทะเบียน มากกว่า 2.6 แสนร้าน ล่าสุดยังช่วยติดตามจำนวนกลุ่มเสี่ยง 394 คนในจ.ระยอง ได้ภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและติดต่อเข้ารับการคัดกรองฟรี

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ยังได้เปิดพื้นที่หางานออนไลน์ผ่านระบบ “JOBD2U by ThaiFightCOVID-19” ช่วยเหลือคนตกงาน-ว่างงานจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงโอกาสแหล่งงานใหม่ โดยรวบรวมตำแหน่งงานจากบริษัทด้านดิจิทัลทั่วประเทศ มารวมไว้บน platform นี้ รวมถึงหลักสูตรเรียนรู้ฟรี เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ

ขณะที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) หน่วยงานใต้สังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่ โดยรับภารกิจดูแลจัดส่งหน้ากากอนามัย ไปยังบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ผ่านโครงการ ‘ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19’ โดยระหว่างวันที่ 1-11 มิถุนายน 2563 ได้ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 147,489,850 ชิ้น

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานตามภารกิจกระทรวงฯ เพื่อยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย มีความคืบหน้าหลายด้าน โดยครอบคลุมไปถึงกฎหมายด้านดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย ปูทางสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางโลกและสนามการค้ายุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ รมว.ดิจิทัล ได้ยกตัวอย่างผลงานโครงการเด่นๆ ได้แก่ โครงการที่หนุนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ Thailand Digital Valley Thailand เพื่อสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อม และ Ecosystem ที่เอื้อต่อโครงการที่สนับสนุนนโยบายการพัฒนาสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลไทยแลนด์ ได้แก่ การพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) เริ่มให้บริการแล้ว มีหน่วยงานส่งคำขอใช้บริการเข้ามา 472 หน่วยงาน 1,570 ระบบ (ประมาณ 24,118 VM) ซึ่งตามแผนได้มีการกำหนดให้บริการหน่วยประมวลผลรวม 32,000 vCPU ภายในปี 2563 ช่วยประหยัดงบประมาณทางด้านไอทีของภาครัฐได้ 30-70% ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่สำคัญของประเทศ จะถูกจัดเก็บอยู่ภายในประเทศไทย และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้กลายเป็น Big Data ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชนได้

“การที่เรามีระบบ GDCC หน่วยงานภาครัฐสามารถเข้ามาใช้งานทรัพยากรคอมพิวเตอร์บนระบบ Cloud กลางที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการใช้งานในการจัดทำระบบงานสำหรับให้บริการประชาชน, ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐที่มีมาตรฐาน เป็นระบบ และมีความต่อเนื่องในการให้บริการยิ่งขึ้น” นายพุทธิพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ Big Data ด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ โดย GBDI ร่วมมือกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในการให้ความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอนุญาตให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย โดยผู้ป่วยเป็นเจ้าของข้อมูล และแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ต่อเมื่อผู้ป่วยอนุญาตเท่านั้น มีการกำหนดชั้นความลับ เพื่อให้ข้อมูลปลอดภัย และเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีเครือโรงพยาบาล/โรงพยาบาลหลักของประเทศ เข้าร่วมแล้ว 14 แห่งโดยเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของผู้บริหารโรงพยาบาลใหญ่ในประเทศไทยได้ครบถ้วนที่สุด

159498145329

และการพัฒนาระบบ Big Data ด้านการท่องเที่ยว สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน เก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่สนใจนำข้อมูลมาพัฒนาเป็นบริการให้ประชาชน หรือช่วยธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป ตัวอย่างเช่น 1.บริการ “หมุด” และรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยวหลักและรอง 2.การจัดทำมาตรฐานจัดเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และ 3.การวิเคราะห์ข้อมูล โดยนำร่องการพัฒนาแล้วใน จ.อุบลราชธานี, อุดรธานี, กระบี่ และภูเก็ต

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ยังมีโครงการที่สนับสนุนทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความทั่วถึงเท่าเทียม ได้แก่ การผลักดันให้เกิดการประมูล 5G ในประเทศไทย โดยไทยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เริ่มมีการวาง cell site เพื่อรองรับการให้บริการ 5G โดยภาคเอกชน หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล 5G เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในปี 2564 โดยกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวทาง มาตรการ และกลไกในในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล