ชุมชนฟ้องเพิกถอนผัง 'อีอีซี' 'คณิศ' พร้อมถกแก้ข้อกังวล

ชุมชนฟ้องเพิกถอนผัง 'อีอีซี' 'คณิศ' พร้อมถกแก้ข้อกังวล

เครือข่ายชุมชน 3 จังหวัดอีีอีซี ยื่นศาลปกครองขอเพิกถอนแผนผังใช้ประโยชน์ที่ดิน อ้างไร้ความเห็นประชาชนอย่างถูกหลักการ รับผวาปมเปลี่ยนสีใช้ประโยชน์พื้นที่ ด้าน คณิศ พร้อมแจงข้อมูล และรับฟังความเห็นประชาชน

วานนี้ ( 16 ก.ค.63) เครือข่ายชุมชนและประชาชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ยื่นคำฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เพิกถอนประกาศกพอ. เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562

นายสุทธิเกียรติ คชโส ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเปิดเผยว่าว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัด ที่เดิมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ชนบทถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลืองอ่อนและสีม่วง ซึ่งรองรับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เช่น โรงงานกำจัดขยะของเสียอันตราย โรงไฟฟ้า 

ทั้งนี้ กระบวนการจัดร่างแผนผังฯ ไม่ได้รับฟังความเห็นประชาชนอย่างถูกต้องตามหลักผังเมือง รวมทั้งไม่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์จึงเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนและให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และรับฟังความเห็นประชาชนก่อนจะทำแผนผังใหม่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการกพอ. กล่าวว่า  ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ กพอ. ก็พร้อมไปชี้แจงข้อมูลให้กับศาลปกครอง และกลุ่มชาวบ้านที่ยังกังวลแผนผังฯฉบับนี้

 อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ เสร็จแล้ว และได้ประกาศออกมาเป็นกฎหมายแล้ว จะให้ยกเลิกคงไม่ได้ แต่หากจะให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขในเรื่องอะไรในจุดใดบ้าง ก็จะเข้าไปหารือในรายละเอียดแก้ไขเป็นจุดๆได้ ซึ่ง กพอ. พร้อมที่จะทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซีอย่างเต็มที่

เกินกำหนด90วันร้องค้าน

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่ากระบวนการจัดทําแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ดําเนินการโดยสกพอ. ร่วมกับกรมโยธาธิการและ ผังเมือง ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดทำผังเมืองของประเทศไทยและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

“จากข้อกำหนดตามกฎหมาย คดีที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้นั้น นอกจากจะเป็นคดีปกครองแล้ว จะต้องยื่นคำฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือต้องยื่นฟ้อง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศฯ ผังเมือง อีอีซี มีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ต้องยื่นฟ้องภายในระหว่างวันที่ 10 ธ.ค. 2562 - 10 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเป็นสำคัญ”

159490680229

สำหรับประเด็นที่ต้องการชี้แจงประกอบด้วยการคำนึงถึงความสัมพันธ์ของชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ประชาชน ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานในพื้นที่ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน และรับฟังข้อเสนอแนะของประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาเสมอมา โดยมีกำหนดไว้ชัดเจนใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสาม

ทั้งนี้ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561 มีการจัดรวมไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง

ปฎิเสธเปลี่ยนสีใช้พื้นที่มั่ว

นอกจากนี้ ขอชี้แจงว่าไม่มีการปรับพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี มาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ได้มีการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรมและพื้นที่โล่งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การจัดทำผังเมือง สกพอ. ดำเนินการตามหลักวิชาการผังเมือง โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ โดยรักษาพื้นที่ป่าไม้เท่าเดิม รักษาพื้นที่เกษตรเท่าเดิม โดยส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติถึง 78.76 % พื้นที่เมืองและชุมชน 13.23% และพื้นที่อุตสาหกรรมมีเพียง 5.12% และพื้นที่อื่น ๆ (เขตทหาร แหล่งน้ำ) 2.89%

โดยปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1. กำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่โล่งเพื่อ รักษาสิ่งแวดล้อมโดยรอบอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ 2.93%  ประเภทที่ 2. กำหนดพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน เป็นพื้นที่รองรับการเป็นชุมชนเมือง และศูนย์กลางพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้นประมาณ 3.36% ประเภท3. กำหนดพื้นที่รอบอุตสาหกรรมเดิม ในลักษณะคลัสเตอร์เพื่อรองรับการพัฒนา เพิ่มขึ้น ประมาณ 1.99%

ขณะที่30 ส.ค. 2562 ได้มีกลุ่มชาวบ้านตำบลเขาดิน อำเภอปางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มากกว่า 60 คน เดินทางมายื่นหนังสือนำเรียนนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC และขอให้เร่งรัดประกาศใช้แผนผัง EEC โดยเร็ว เนื่องจากเป็น ความต้องการของคนในพื้นที่ที่แท้จริง โดยในการเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC ครั้งนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่ร่วมลงชื่อจำนวนมากกว่า 500 คน