'สิงคโปร์-มาเลเซีย' เปิดพรมแดน 10 ส.ค.นี้

'สิงคโปร์-มาเลเซีย' เปิดพรมแดน 10 ส.ค.นี้

"สิงคโปร์" และ "มาเลเซีย" เตรียมเปิดพรมแดน 10 ส.ค. ให้ประชาชนและนักธุรกิจบางส่วนไปมาหาสู่กันได้ ขณะที่รายงานเศรษฐกิจสิงคโปร์พบว่า ไตรมาส 2 หดตัวถึงกว่า 40%

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานเมื่อวันอังคาร (14 ก.ค.) ว่า กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ โดยรัฐมนตรีวิเวียน บาลากริชนันและกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียโดยรัฐมนตรีฮิชามมุดดิน ฮุสเซ็นออกแถลงการณ์ร่วม เห็นชอบปฏิบัติ 2 โครงการคือ โครงการกรีนเลนต่างตอบแทน (อาร์จีแอล) และการจัดการเดินทางเป็นระยะ (พีซีเอ) 

โครงการอาร์จีแอลอนุญาตให้เดินทางทำธุรกิจที่จำเป็นและติดต่อราชการระหว่างสองประเทศได้ นักเดินทางที่เข้าเกณฑ์จะต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและป้องกันโควิด-19 ที่ทั้งสองประเทศเห็นชอบร่วมกัน รวมทั้งตรวจสอบการปนเปื้อน โดยต้องส่งกำหนดการเดินทางให้ประเทศปลายทาง และต้องเดินทางตามกำหนดการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดตลอดมาเยือน

ส่วนพีซีเอจะอนุญาตให้ผู้พำนักในสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่มีใบอนุญาตผ่านแดนระยะยาวเพื่อทำธุรกิจและทำงานในอีกประเทศหนึ่ง เดินทางเข้ามาทำงานได้ หลังจากทำงานติดต่อกัน 3 เดือนเป็นอย่างน้อย สามารถลากลับบ้านระยะสั้นกลับประเทศได้ จากนั้นก็ไปทำงานต่อในอีกประเทศหนึ่งได้อีก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย นักเดินทางกลุ่มนี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19

ทางการของทั้งสองประเทศยังคงหาข้อสรุปมาตรฐานกระบวนการปฏิบัติตามโครงการอาร์จีแอลและพีซีเอ ส่วนระเบียบการยื่นเรื่องและข้อปฏิบัติด้านสุขภาพสำหรับเดินทางเข้าออกมาเลเซียและสิงคโปร์จะเผยแพร่ 10 วันก่อนถึงวันที่ 10 ส.ค.

159478513063

“มาเลเซียและสิงคโปร์ยังเห็นชอบให้พัฒนาโครงการที่เหมาะสมอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเดินทางระหว่างกัน เช่น เสนอให้เดินทางข้ามพรมแดนรายวันเพื่อเข้ามาทำงาน พร้อมกันนั้นได้พิจารณาพิธีการด้านสุขภาพและทรัพยากรทางการแพทย์ที่สองประเทศมี เพื่อรับรองความปลอดภัยให้พลเมืองทั้งสองฝ่าย โครงการเหล่านี้จะเปิดให้ทั้งสองประเทศฟื้นคืนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า” แถลงการณ์ระบุ 

ในวันเดียวกัน กระทรวงการค้าสิงคโปร์รายงานว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 2 หดตัว 41.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และ 12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน เท่ากับว่าสิงคโปร์เข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552ที่เคยได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติการเงินโลก

สิงคโปร์เป็นเขตเศรษฐกิจเปิดกว้างมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถูกมองว่าเป็นมาตรวัดการค้าโลก ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งหน้าสู่ขาลงลึกมาก ทั้งยังเป็นระฆังเตือนสำหรับเขตเศรษฐกิจเอเชียที่พึ่งพาการค้าทั้งหลาย โดยปกติแล้วสิงคโปร์จะเจ็บก่อนแล้วลามไปทั่วภูมิภาค

ซง เซ็ง วุน นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียจากวาณิชธนกิจซีไอเอ็มบีเผยว่า นี่เป็นตัวเลขรายไตรมาสที่แย่สุดในประวัติศาสร์ 55 ปีของสิงคโปร์ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก พึ่งพาการการค้าสินค้าและบริการหนักมาก

แถลงการณ์กระทรวงระบุว่า การหดตัวอย่างมหาศาลเป็นผลจากข้อบังคับที่ออกมาเมื่อต้นเดือน เม.ย.-ต้นเดือน มิ.ย. เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการต้องปิดธุรกิจหลายแห่ง ประกอบกับความต้องการจากนอกประเทศอ่อนแรงลงด้วย

159478515080

หากพิจารณาเป็นรายภาค การก่อสร้างหดตัวลง 54.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 95.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1

ภาคบริการหดตัว 13.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศกระทบหนักเพราะคำสั่งห้ามเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2562 เหตุผลหลักคือการผลิตด้านการแพทย์ชีวภาพเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นการประเมินล่วงหน้า ซึ่งจะปรับอีกครั้งเมื่อได้ข้อมูลไตรมาส 2 ทั้งหมด

ตอนแรกสิงคโปร์สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ด้วยมาตรการตรวจหาเชื้อและตามรอยโรคอย่างเข้มข้น แต่ตอนหลังพบการระบาดใหญ่ในที่พักแรงงานข้ามชาติ ส่งผลจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 46,000 คน เสียชีวิต 26 คน

พรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ได้รับเอกราช ได้รับเสียงสนับสนุนลดลงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสัปดาห์ก่อน แม้จะยังคงได้เป็นรัฐบาลเหมือนเดิม แต่ประชาชนกังวลเรื่องการจ้างงานและเศรษฐกิจช่วงโควิด

159478516296

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่ตัวเลขเศรษฐกิจอ่อนแอในไตรมาส 2อาจเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลต้องลงมือทำให้มากกว่าเดิม

บริษัทที่ปรึกษา “แคปิตอล อีโคโนมิกส์” รายงานว่า ข้อมูลไตรมาส 2 บ่งบอกจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจขาลง สิงคโปร์กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากการล็อกดาวน์บางส่วน

“กิจกรรมภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวเมื่อผ่อนคลายข้อจำกัดการทำงานและพักผ่อนหย่อนใจตอนต้นเดือน มิ.ย. และแม้หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการท่องเที่ยวและบริการจะยังคงเสียหายต่อไป แต่เศรษฐกิจสิงคโปร์จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค”