CP ยื่นควบรวม'เทสโก้' 90 วันรู้ผลบอร์ดแข่งขันการค้า

CP ยื่นควบรวม'เทสโก้'  90 วันรู้ผลบอร์ดแข่งขันการค้า

CP ยื่นบอร์ดแข่งขันการค้า ขอควบรวม "เทสโก้ โลตัส" ด้าน "สกนธ์" ขอข้อมูลโครงสร้างธุรกิจเพิ่มยืนยันพิจารณาเสร็จใน 90 วัน

บริษัทในเครือเจริญ โภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำการซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิในบริษัทในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย รวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 ระบุถึง การซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำให้ซีพีได้สินทรัพย์มูลค่า 338,445 ล้านบาท แต่เงื่อนไขการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทย และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs ของมาเลเซีย

สำหรับธุรกิจ Tesco Lotus ในประเทศไทย ประกอบด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา Tesco Express 1,574 สาขา และการให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูล ณ ส.ค.2562)

ส่วนธุรกิจ Tesco Lotus ในมาเลเซีย ประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซุปเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา ร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า56 สาขา (ข้อมูล ณ ส.ค.2562)

159464554478

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ซีพียื่นเอกสารขออนุญาตควบรวมกิจการกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการตรวจสอบเอกสารและขอให้ซีพีส่งเอกสารเพิ่มเติม เช่น โครงสร้างธุรกิจ สัดส่วนตลาด ส่วนแบ่งตลาด 

โดยขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมเร็วที่สุด และคณะกรรมการฯ จะเริ่มพิจารณาการควบรวมทันทีเมื่อเอกสารครบถ้วน เพราะมีเวลาพิจารณาเพียง 90 วัน โดยจะเริ่มนับ 1 เมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลครบ

“การเริ่มต้นพิจารณาจะล่าช้าหรือไม่ขึ้นกับการส่งเอกสารได้รบสมบูรณ์ของซีพี ซึ่งคณะกรรมการฯ จะพิจารณาให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด” นายสกนธ์ กล่าว

สำหรับเอกสารประกอบการขอยื่นการควบรวมธุรกิจที่ซีพีต้องยื่นกำหนดให้ยึดประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 เนื่องจากหลักเกณ์ฉบับใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเอกสารที่ต้องยื่น ประกอบด้วย 

1.แผนการรวมธุรกิจและระยะเวลาดำเนิน การรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประสงค์รวมธุรกิจและผู้ถูกรวมธุรกิจ เช่น โครงสร้างผู้ถือหุ้น สิทธิออกเสียง ยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด 

2.ผลการศึกษาและการวิเคราะห์การรวมธุรกิจ เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างผู้ถือหุ้น อำนาจควบคุมของผู้ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจเพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการก่อนและหลังรวมธุรกิจ การวิเคราะห์โครงสร้างตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประสงค์รวมธุรกิจ เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังรวมธุรกิจ เช่น การวิเคราะห์โครงสร้างตลาดก่อนและหลังการรวมธุรกิจ การกำหนดขอบเขตตลาด 

3.ส่วนแบ่งตลาดของผู้ประสงค์รวมธุรกิจทั้งก่อนและหลังการรวมธุรกิจ ยอดเงินขายของผู้ประสงค์รวมธุรกิจทั้งก่อนและหลังการรวมธุรกิจ

นอกจากนี้ต้องมีเอกสารการประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจ เช่น การกระจุกตัวในตลาด การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่และการขยายการผลิตของคู่แข่งในตลาด (Entry and Expansion) ผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ (Non-Coordinated Effect) 

รวมถึงผลกระทบต่อการแข่งขันที่เกิดจากการร่วมมือกัน (Coordinated Effect) โดยเป็นผลกระทบที่เกิดจากการรวมธุรกิจที่อาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะร่วมมือกันขึ้นราคาสินค้าภายหลังการรวมธุรกิจ

ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตจะพิจารณาโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย ความจำเป็นตามสมควรทางธุรกิจและประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม