'ท่องเที่ยว' อาเซียนหลังโควิด-19 การกลับมาที่ 'ต่างไปจากเดิม'

'ท่องเที่ยว' อาเซียนหลังโควิด-19 การกลับมาที่ 'ต่างไปจากเดิม'

ก่อนที่ไวรัสโคโรนา 2019 ต้นตอโรคโควิด-19 จะหยุดโลกและการเดินทางระหว่างกันเอาไว้ ทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมากถึง 133 ล้านคน ซึ่งระยะหลังๆ มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

ในบางพื้นที่เจอกับแรงกดดันด้านการท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม จนกระทั่งการมาถึงของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคได้รับผลกระทบมาก โดยมีการประเมินจากสมาคมการท่องเที่ยวเเอเชียแปซิฟิก หรือ พาตา (PATA) ว่า จะทำให้เม็ดเงินกว่า 34,600 ล้านดอลลาร์หดหายไป

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า การที่ไวรัสหยุดโลกและการท่องเที่ยวไว้นี้ กลับเป็นโอกาสให้แต่ละประเทศได้ทบทวนถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวด้วยความยั่งยืนจากการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคยเป็นมา

ตัวอย่างหนึ่งของการกลับมาใหม่ของการท่องเที่ยวที่สะท้อนความยั่งยืนมากขึ้นคือ เกาะโบราไกย์ (Boracay) ของประเทศฟิลิปปินส์

จากการรายงานของ CNN ในช่วงวันหยุดนี้ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์สั่งปิดเกาะนี้ในปี 2561 เป็นระยะ 6 เดือนเพื่อ "ปัดกวาดบ้านขนานใหญ่" เพราะการขยายตัวของการท่องเที่ยวส่งผลให้ผู้้ประกอบการเอาแต่กอบโกยกำไร มีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายหาด รวมทั้งการปล่อยน้ำเสียต่างๆ จนสภาพแวดล้อมของเกาะเสื่อมโทรม

หลังการปิดเกาะได้ 6 เดือนและการกลับมาพร้อมกับการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 19,000 เหลือ 6,000 คน โรงแรมต้องทำตามกฏระเบียบการรักษาสภาพแวดล้อม ทำให้เกาะเริ่มมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นและเงียบสงบเป็นที่ถูกใจของหลายๆคน แม้จะกระทบกับวิถีชีวิตคนท้องถิ่นบ้าง

 

  • เจ็บระยะสั้นเพื่อผลดีระยะยาว

ซูซาน เบคเคน ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวกริฟฟิธ (Griffith Institute for Tourism) ในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กล่าวว่า มันอาจจะดูโหดร้ายกับการที่ต้องปิดเกาะเลยแบบนี้เพราะคนจำนวนมากพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว แต่นี่เป็นบทเรียนที่อาจสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้กับการเปิดตัวอีกครั้งของหลายๆ ที่หลังการเกิดโรคระบาด

"ลองคิดถึงภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นกับเกาะ และการกระจายวิถีการดำเนินชีวิตให้หลากหลาย ที่ไม่ใช่พึ่งพาแค่การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว การปรับตัวแบบนี้อาจส่งผลสะเทือนบ้าง แต่ในระยะยาว มันคือตัวช่วยให้อยู่กับความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี"

ในขณะที่โบราไกย์อาจแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของสภาพแวดล้อมและการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ แม้จะเป็นเพราะคำสั่งของทางการ โรคระบาดไวรัสโคโรนาก็ได้ทำให้เห็นเช่นกันว่า สภาพแวดล้อมสามารถพักฟื้นและฟื้นตัวได้ถ้าได้หยุดพัก ในประเทศไทย มีรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องถึงสัตว์ทะเลที่ปรากฏ รวมทั้งเต่ามะเฟืองหายากที่ขึ้นมาวางไข่บนหาด

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การพบเห็นสัตว์ต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่แนวคิดจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ใหม่ รวมถึงการปิดอุทยานฯ 2-3 เดือนทุกปี

นายธัญญายังบอกอีกว่า ทางกรมได้ลดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ลงในหลายๆ ที่ให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง

 

  • ลดความแออัดของนักท่องเที่ยว

การออกตั๋วล่วงหน้าหรือการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นแนวทางในการกำกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ของที่ท่องเที่ยวต่างๆทั่วโลก แต่ในภูมิภาค ดูเหมือนระดับของสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ อาจไม่ค่อยเอื้อนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคน รวมทั้ง วิลเลียม เนียมีเจอร์ ซึ่งก่อตั้งองค์กรท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ยานา เวนเจอร์ (YAANA Ventures) แนะนำว่า การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆเข้ามาช่วยจัดการ เช่นการจองล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่นอาจสามารถช่วยกำกับจำนวนนักท่องเที่ยว ณ สถานที่นั้นๆ ได้

"หากคุณต้องจองก่อน คุณอาจได้ยินคนบอกว่ามันยุ่งยากจัง งั้นฉันไปที่อื่นก็ได้ และนั่นหมายถึงการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวเองและรายได้ที่เกิดจากการใช้จ่ายของพวกเขาโดยปริยาย" เนียมีเจอร์กล่าว

เทคโนโลยีลักษณะนี้ ถูกนำมาใช้กับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมฟุตบอลหรือแกลลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มันสามารถนำมาใช้ได้กับกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในภูมิภาคได้เช่นกัน

แต่เป็นที่รับรู้กันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญว่า เพียงการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอาจไม่เพียงพอ แต่ยังต้องกระจายการท่องเที่ยวไปยังจุดอื่นๆ นอกจากนั้นยังต้องมาพร้อมกับการวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อม บทลงโทษ และที่สำคัญการมีส่วยร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยว และการเปลี่ยนแนวคิดการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน