สกพอ.ชูจุดแข็งลงทุน EEC หลังโควิด ดึงอุตฯการแพทย์-อาหาร

สกพอ.ชูจุดแข็งลงทุน EEC หลังโควิด  ดึงอุตฯการแพทย์-อาหาร

การลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และเป็นไปตามทิศทางการลงทุนของโลก แต่ในบางธุรกิจมีแนวโน้มการลงทุนดีขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร

ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกระทบต่อการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มียอดออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 8 หมื่นล้านบาท และมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 5.5 หมื่นล้านบาท 

ในขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังจะลดลงทำให้ตัวเลขทั้งปีต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เพราะโควิด-19 กระทบรุนแรงกับทุกธุรกิจทั่วโลกทำให้แต่ละบริษัทพยายามประคองธุรกิจให้อยู่รอดก่อนจึงจะขยายการลงทุน

“การประเมินยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปีนี้จะประเมินได้ยาก เพราะมีหลายปัจจัยที่คาดได้ยาก เช่น การระบาดรอบ 2 ในไทย และหลายประเทศในโลกหรือไม่ จะมีความชัดเจนเมื่อมีวัคซีนโควิด-19 และผลิตเพียงพอ”

ในระยะ 2-3 ปีนี้ ภาคการลงทุนจะฟื้นกลับมา และอาจกลับมาสูงเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี ซึ่งไทยมีจุดแข็งดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ประกอบกับสภาวะโลกขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงโควิด-19 ทำให้ภูมิทัศน์การลงทุนเปลี่ยนไป จะมีการย้านฐานการลงทุนมากขึ้น

จุดแข็งของไทยอยู่ที่ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศ การเชื่อมต่อภูมิภาคนี้ ซึ่งการที่ไทยเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีทำให้ไทยมีจุดแข็งดีมาก รวมทั้งไทยเป็นฐานการผลิตของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นมานาน ส่งผลให้มีการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมหลากหลาย ทำให้บริษัทใหม่ที่เข้ามาลงทุนไม่จำเป็นต้องเริ่มนับ 1 ใหม่และมาต่อยอดได้ทันที

“จากการพูดคุยกับนักลงทุนและองค์กรระหว่างประเทศเห็นตรงกันว่าโลเคชั่นของไทยเด่น โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงของไทยพร้อมมาตั้งแต่ในอดีตระดับหนึ่ง เส้นทางเชื่อมโยงทางถนนครบทุกด้าน ท่าเรือมีความพร้องสูง โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้งการขยายรถไฟทางคู่ ทำให้เห็นโครงการสร้างพื้นฐานไทยโดดเด่น”

การที่ไทยเตรียมความพร้อมสร้างบุคลากรทักษะสูง โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต่างชาติเห็นความจริงจังการเตรียมความพร้อมบุคลากร ซึ่งแม้ค่าแรงของไทยจะแพงแต่ได้ขยับทักษะแรงงานมากขึ้น และโครงการพัฒนา เช่น สหศึกษาในการสร้างแรงงานระดับอาชีวะ โครงการอีอีซีโมเดลร่วมมือกับเอกชนเตรียมพร้อมด้านแรงงาน

นอกจากนี้ มีจุดเด่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศด้านการวิจัยพัฒนา โดยตั้ง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เร่งเดินหน้า 

รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะการประมูล 5จี ที่เสร็จไปแล้วเป็นทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่ประมูลระบบ 5 จี ครอบคลุมทั้งประเทศ จึงเป็นจุดขายสำคัญของไทย ซึ่งภายในปี 2564 จะครอบคลุม 50% ในอีอีซี ซึ่งเป็นคลื่นพื้นฐานสำหรับของระบบออโตเมชั่นในโรงงาน สมาร์ทซิตี้ ดิจิทัลเพื่อสุขภาพ และเป็นการรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมีนวัตกรรมแอพลิเคชั่นใหม่ที่สร้างขึ้นมารองรับระบบ 5 จีมากขึ้น

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ไทยเกิดโอกาสในการลงทุนสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 

1.อาหารแห่งอนาคตและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยช่วงการระบาดของโควิด-19 ประเทศที่พึ่งการนำเข้าอาหารได้รับความเดือดร้อนทุกประเทศ เพราะโลจิสติกส์ทั่วโลกชะงัก แต่ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารและเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น

และมีเทคโนโลยีอาหารแปรรูปก้าวหน้าทำให้ก้าวมามีบทบาทเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และจะยกระดับไปสู่ฟังก์ชันนัลฟู้ด วัสดุปรุงแต่งอาหารส่วนผสมอาหาร (ฟู้ดอินกรีเดียนท์) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้กับอาหารแปรรูป เพื่อการเก็บรักษาได้นานคงรสคงรูป

ทั้งนี้ สวทช.ได้ขยายฟูดอินโนโพลิสที่อีอีซีไอ เพื่อให้อุตสาหกรรมเข้ามาร่วมใช้ห้องทดสอบทดลอง หรือโรงงานต้นแบบทดลองผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ได้ ตลอดจาการนำวัสดุการเกษตรไปต่อยอดในอุตสาหกรรมชีวภาพชั้นสูง

2.อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ จากการที่ไทยโดดเด่นเรื่องการจัดการโควิด-19 ที่ได้ผลในระดับต้นของโลก ทำให้เสริมจุดเด่นเดิมของไทยในด้านการรักษาพยาบาลไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และที่ผ่านมาบริหารจัดการโควิด-19 ได้ดี

รวมทั้งมีความร่วมมือกับจีนในการค้นคว้าวัคซีนโควิด-19 และไทยเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากพอสมควร ภาพเหล่านี้ทำให้ไทยดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ได้ดีขึ้นทั้งในภาคบริการ และยกระดับไปสู่การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูง

“ไทยโดดเด่นในเทคโนโลยีหลายด้านที่คลัสเตอร์อยู่ที่ไทย ซึ่งมีอุตสาหกรรมการแพทย์ ไบโอเทคโนโลยี เพราะไทยแข็งแกร่งเรื่องอุตสาหกรรมอาหารและมีผลผลิตการเกษตรที่ดี เอาไบโอเทคโนโลยีมาต่อยอดได้ โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนจากยุโรป เกาหลีใต้ มาหารือลงทุนหลายราย ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าการลงทุนสูง แต่สินค้าที่ผลิตมีมูลค่าเพิ่มสูงมาก”

จากการที่ญี่ปุ่นตั้งกองทุนให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นย้านฐานการผลิตมาอาเซียน ซึ่งหลายอย่างแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นและอาเซียนเชื่อมั่นในการเชื่อมโยงด้านการผลิต ดังนั้นแม้จะมีกระแสดึงอุตสาหกรรมความมั่นคงทางการแพทย์กลับประเทศจะมีเพียงส่วนหนึ่ง และมีอีกหลายเรื่องที่จะย้ายไปภูมิภาคที่เชื่อมโยงกัน มีความพึ่งพากันได้ มีการเชื่อมโยงการขนส่งที่ดี จะมาลงทุนในภูมิภาคที่เขาเชื่อใจ 

“นโยบายเศรษฐกิจของไทยมีความเชื่อถือได้ เวลาที่ยาวนานได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติแต่ไทยมีเศรษฐกิจเปิดให้ความสำคัญการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม และไอซีทีต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ทุกอย่างเสริมภาคธุรกิจหมด”