'ดีไซน์ดิสรัปชัน' พร้อมรับ New normal หลังโควิด-19

'ดีไซน์ดิสรัปชัน' พร้อมรับ New normal หลังโควิด-19

หลังคลายล็อกดาวน์เฟส 5 พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่สาธารณะ หรือในบ้าน จำเป็นต้องนำแนวคิดดีไซน์ดิสรัปชันมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ โดยคำนึงถึงการรักษาระยะห่าง การตั้งจุดคัดกรอง แบ่งโซน ระบบปรับอากาศ พร้อมรับ New Normal

ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งกระบวนการตรวจคัดกรอง ป้องกันและรักษา ขณะเดียวกัน แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่สิ่งสำคัญต่อจากนี้ คือ งานออกแบบ ที่จะมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะในด้านการออกแบบที่เปลี่ยนไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยในยุคหลังโควิด-19 (Design disruption)

159343868759


"ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานแถลงข่าว อนาคตการออกแบบของโลกหลังโควิด-19 ณ สจล. ว่า ถึงแม้อัตราการติดเชื้อเป็นศูนย์มานานแต่เรายังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน คีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุด คือ ต้องคิดถึงส่วนรวม ซึ่งสะท้อนในพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ใส่หน้ากาก ล้างมือ ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ ขณะเดียวกันการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมได้เช่นกัน

ทั้งนี้ 3 แนวคิดดีไซน์ดิสรัปชัน ประกอบด้วย 1. งานออกแบบเพื่อสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวมยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ งานออกแบบจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การติดตั้งระบบฆ่าเชื้อด้วย UV-C หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ การเลือกใช้วัสดุที่ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ การออกแบบระบบกรองอากาศเพื่อป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น

159343868543

2. งานออกแบบเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้งาน และเพื่อความสวยงาม นอกจากหลักการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงสุขลักษณะแล้ว การออกแบบยังต้องคำนึงถึงความสะดวกต่อการใช้งาน (User friendly) โดยหลักการออกแบบเพื่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม (Universal design) จะต้องคิดครอบคลุมมากขึ้น ไปถึงการออกแบบให้ทุกคนเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างปลอดภัย และปลอดเชื้อในขณะเดียวกัน การออกแบบเพื่อความสวยงามก็ยังคงเป็นสิ่งที่นักออกแบบต้องพัฒนาควบคู่กันไป

และ 3. งานออกแบบที่สังคมเข้าถึงได้ อีกหนึ่งแนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่งของดีไซน์ดิสรัปชัน คือ การออกแบบต้องสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในสังคม ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนักออกแบบที่ต้องวางแผนกระบวนการผลิตงานออกแบบออกมาเป็นจริงได้ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การคำนวณต้นทุน ปริมาณการผลิตที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการประเมินความสามารถในการใช้งานได้จริงในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้งานออกแบบสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นวงกว้าง

159343868297

"วันนี้ต้องมีการออกแบบสอดคล้องกันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ต้องผสมผสานระหว่างการออกแบบทางกายภาพ เทคโนโลยี สถาปนิกยุคใหม่ต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยี และกายภาพ รวมถึงตระหนักถึง แนวความคิดทางด้านความปลอดภัยทางสังคม ทำอย่างไรร้านอาหารที่รอคิวนานต้องปลอดภัย และสุดท้าย การล็อกดาวน์ ทำให้เราเห็นความสำคัญของการออกแบบเมืองอย่างไรให้คนเดินไปซื้อของ ซื้อยาได้สะดวก" อธิการบดี สจล. กล่าว

หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ซึ่งมีแนวโน้มที่ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น (New Normal) "ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี" คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญในการออกแบบ คือ ทำอย่างไรให้คนทุกช่วงวัยอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงแบบผู้สูงอายุ รวมถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ที่ให้คนสามารถเว้นระยะห่าง แต่ยังสามารถเจอกันได้

159343868259

ทั้งนี้ การพัฒนางานออกแบบเพื่อยกระดับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย ตัวอย่างเช่น งานออกแบบในโรงเรียน ต้องคำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ที่ต้องรักษาระยะห่าง (Physical distancing) โดยใช้ระบบแบ่งกลุ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง การใช้ที่กั้นระหว่างโต๊ะเรียน โต๊ะอาหาร เป็นต้น

ถัดมา คือ งานออกแบบในโรงพยาบาล ต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่ออื่นๆ โดยการตั้งจุดคัดกรองตั้งแต่ก่อนเข้าอาคาร ซึ่งอาจใช้ระบบการออกแบบห้องตรวจคัดกรองแบบความดันบวกเพื่อให้แพทย์ใช้ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างปลอดภัย การติดตั้งระบบกรองอากาศในบริเวณที่แพทย์ต้องทำหัตถการให้แก่ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ

159343868591

ในขณะที่ การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ก็ต้องมีการออกแบบที่รองรับการอยู่ร่วมกันของคนแต่ละวัยอย่างปลอดภัย โดยลักษณะโดยทั่วไปของครอบครัวไทย เป็นครอบครัวที่มีคน 4 รุ่น อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก และเด็กเล็ก ซึ่งคนในกลุ่มวัยทำงานและวัยเรียนอย่างรุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อมากกว่าผู้ที่อยู่แต่ในบ้าน จากการต้องออกจากบ้านไปทำงานหรือไปเรียน ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ รุ่นปู่ย่าตายาย เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ด้วยระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำกว่าคนวัยอื่น

ดังนั้น การอยู่ร่วมกันในบ้าน จึงต้องมีการแบ่งเขต (Zoning) ระหว่างคนวัยเรียน ทำงาน และผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากผู้ที่ออกไปข้างนอกเป็นประจำ โดยอาจออกแบบให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องนอนติดกระจกใสชั้นล่าง เพื่อให้ยังมองเห็นคนในครอบครัว และไม่รู้สึกว่าถูกแยกขาดจากกันมากเกินไป นอกจากนี้ แม้ว่าสถานที่ทำงานหลายแห่งจะกลับมาเปิดทำการตามปกติ แต่แนวโน้มการทำงานจากที่บ้านจะมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น การออกแบบบรรยากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้าน (Work station) ก็เป็นอีกเทรนด์ออกแบบที่น่าสนใจเช่นกัน รวมไปถึง เฟอนิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ระบบระบายอากาศ ที่เตรียมพร้อมโดยเฉพาะหากเกิดการระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจ

159343868646

"สถาปัตย์ เป็นเรื่องการออกแบบทุกอย่าง ต้องมาคิดใหม่ แต่ก่อนเราสุดโต่งเรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ การต่างคนต่างอยู่ ต่อไปผู้นำของโลกอาจจะไม่ใช่อเมริกา ร้านอาหารอาจจะไม่ได้มองแค่ว่าอร่อย แต่มองว่าสะอาดปลอดภัย รวมถึงโรงแรมที่ต้องปลอดภัยเช่นกัน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงการออกแบบสุขอนามัยในบ้าน และต้องทำงานร่วมกับหลายวิชาชีพ" คณบดีฯ คณะสถาปัตย์ฯ กล่าว

159343866350