อนาคตรัฐบาล-พปชร. ในวันไร้ 'สมคิด-4กุมาร'

อนาคตรัฐบาล-พปชร. ในวันไร้ 'สมคิด-4กุมาร'

ในที่สุดการผลักดัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็เป็นจริง

โดยปรับสถานะจาก ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขึ้นมากุมบังเหียนในฐานะหัวหน้าพรรค พลังอำนาจในการเมืองย่อมทวีคูณขึ้นไปอีกขั้น

แม้ “พล.อ.ประวิตร” จะออกตัวว่าไม่เรียกร้องตำแหน่งแห่งหนเพิ่มเติม ไม่ขอกลับไปคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามที่มีกระแสข่าวออกมา แต่ก็ไม่อาจคาดเดาใจของ พล.อ.ประวิตรได้ว่า การเร่งจังหวะทางการเมืองปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคพปชร.ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างรวดเร็วแล้ว ก้าวต่อจากนี้ไปจะส่งสัญญาณให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จังหวะไหน

เพราะหลัง “4กุมาร” ประกอบด้วย “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง อดีตหัวหน้าพรรคพปชร. “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรคพปชร. “สุวิทย์ เมษินทรีย์​“ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคพปชร. “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตโฆษกพรรคพปชร. หมดตำแหน่งใน กก.บห.พปชร. ก็ถูกคาดหมายว่า โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีควรถูกริบกลับมาด้วย

รวมไปถึงเก้าอี้ของ “เสี่ยกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีว่างลง 4 ตำแหน่ง แถมยังเป็นเก้าอี้ในโควตาของพรรคพปชร. จึงอยู่ที่ว่า 4 เก้าอี้รัฐมนตรี จะถูกจัดสรรในโควตาของ “พล.อ.ประยุทธ์” กี่เก้าอี้ ถูกจัดสรรให้พรรคพปชร.กี่เก้าอี้ ซึ่งว่ากันว่า “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร” หารือส่วนตัว เคาะโควตาจบไปแล้ว แต่ยังอุบไว้ไม่บอกใคร

เมื่อ “สมคิด+4กุมาร” พ้นครม. จากนี้ก็รอพิสูจน์ฝีมือของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะหาคนใหม่เข้ามานำทีมเศรษฐกิจ ได้ดีกว่าสมคิด+4กุมาร หรือไม่ หากเศรษฐกิจฟื้นเร็วพล.อ.ประยุทธ์จะได้รับคำชม แต่หากเศรษฐกิจดิ่งลงเหว พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับก้อนอิฐตอบแทนแน่นอน

และที่สำคัญ “บิ๊กเนม” มากฝีมือที่พล.อ.ประยุทธ์ทาบทามให้มาร่วมทีมเศรษฐกิจ อาทิ “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย โดยคาดหวังให้ “ปรีดี” เข้ามาดูเอสเอ็มอี เนื่องจากเข้าใจ-เข้าถึง ปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อยอย่างดี โดย พล.อ.ประยุทธ์ต้องการปลุกเอสเอ็มอี มีการแข็งขันในตลาดโลกให้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังมีเทียบเชิญไปยัง “ประสาน ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในตองอูด้านการเงินของประเทศ ช่วยงาน “รัฐบาลบิ๊กตู่” ตั้งแต่ยุคคสช. นั่งอยู่ในบอร์ดบริหารหลายชุด จึงถูกใจ-โดนใจ พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้เข้ามาช่วยงานหน้าฉาก

ปรากฏว่า ทั้ง “ปรีดี-ประสาน” บอกปัดไม่ขอนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะรู้ดีว่าเศรษฐกิจทรุดหนัก และมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤต ซึ่งจะเป็นโจทย์ยากในการแก้ไขปัญหา ทำให้บุคคลที่มีชื่อเสียง-มีเครดิต ไม่ยอมเอาตัวเองมาเสี่ยงกับ “รัฐบาลบิ๊กตู่2/2”

ที่สำคัญการบริหารงานในภาวะ “ขาลอย” ไม่มีฐานเสียงของ ส.ส. คอยให้การสนับสนุน ยากที่จะบริหารงานให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงบทบาทของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่อยู่ในกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจ ที่ยังไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงาน ส่งผลให้ “บิ๊กเนม” คิดไม่ตก และตอบปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับสถานการณ์ภายในพรรคพปชร. ภายหลังหมดยุคของ “4กุมาร” สลัดภาพ “นักคิด-นักวิชาการ” ผนึกกับ “นักการเมือง” มาจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้า มาเป็นพรรคการเมืองที่ “ทหาร” รวมใจกับ “นักการเมือง” ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเมืองย้อนยุค-หลงยุค จนอาจจะทำให้ประเทศเดินถอยหลัง

พปชร.หลังไร้ “สมคิด+4กุมาร” จะเต็มไปด้วยการต่อรองของนักการเมืองอยู่ที่ว่าใครจะอยู่ใกล้ชิด “ผู้มีอำนาจ” มากกว่ากัน จากเดิมที่จะมี สมคิด+4กุมาร คอยกลั่นกรองงาน-กลั่นกรองคน ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถูกถอดสลักออกไป บรรดาเสือ-สิงห์-กระทิง-แรด เตรียมเฮโลเข้าหา พล.อ.ประวิตร เพื่อสายตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์

หากดูบทเรียนจากที่นักการเมือง สามารถเป่าหูให้ พล.อ.ประวิตร ไม่พอใจบทบาทของ “สมคิด+4กุมาร” จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้แล้ว อีกไม่นานเกินรอนักการเมือง จะเป่าหูให้ พล.อ.ประวิตร ผิดใจกับพล.อ.ประยุทธ์จนยากเกินจะเยียวยาก็ได้ แม้ความเป็น “พี่น้อง 3ป.” ที่ว่ากันว่ายากที่จะมีใครแทรกกลาง หากเจอลมปากนักการเมือง หยด-หยอด ใส่ทุกวันก้อนหินที่ว่าแข็งก็ย่อมกร่อนลงได้

การบริหารจัดการภายในพรรคพปชร.ของ “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร” จากนี้ไป จะสยบศึกไม่ให้ แกนนำก๊ก-ส.ส. เคลื่อนไหวต่อรองได้นานแค่ไหน เพราะการคิดว่ามีแต้มต่อเหนือ “นักการเมือง” อยู่มาก แค่คิดก็ “แพ้” แล้ว

ตั้ง “กลุ่ม” ต่อยอดตั้ง “พรรค”

อนาคตของ “4กุมาร” มีอยู่ 4 ทางเลือก 1.ลาออกจากพรรคพปชร. 2.ลาออกจากรัฐมนตรี 3.ตั้งพรรคใหม่ 4.ยุติบทบาททางการเมือง ซึ่งโอกาสที่จะลาออกจากพรรคพปชร.มีสูงมาก ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี อาจจะต้องรอลุ้นจนโค้งสุดท้าย โดยเช็คให้ชัวร์ก่อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะปรับออก เพื่อรอลุ้นก๊อกสุดท้าย หากไม่ได้ไปต่อก็มีโอกาสที่จะทิ้งบอมบ์ “ลาออก” ก่อนที่จะถูกปลด

เมื่อ “4กุมาร” ไร้หัวโขนรัฐมนตรี-พปชร. มีแนวโน้มสูงที่จะ “กลุ่มการเมือง-พรรคการเมือง” ขึ้นมา เพื่อหาที่ยืนเป็นเส้นทางการเมืองต่อไป เพราะจากที่ “โนเนม” แทบไม่มีใครรู้จัก แต่วันนี้ชื่อของ “อุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์-กอบศักดิ์” ก็คุ้นหูประชาชน ที่สำคัญได้ประสบการณ์การตั้งพรรคพปชร.มาเพียบ

อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเปิดช่องให้ “พรรคเล็ก” มีโอกาสได้ “ส.ส.” ไม่ยาก จึงเห็นปรากฏการณ์ที่ “คนการเมือง” ออกไปตั้ง “กลุ่ม-พรรค” ของตัวเอง เตรียมกำลังพลเอาไว้ลงสมัครรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

โดยเฉพาะกระแสการตั้ง “กลุ่มการเมือง” เป็นเทรนด์ที่กำลังนิยม เนื่องจากมีความเป็นอิสระ-คล่องตัว-เพลย์เซฟ ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง เมื่อตั้ง “กลุ่มการเมือง” สามารถจัดอีเว้นต์-ลงพื้นที่ เพื่อเก็บแต้ม-เก็บกระแส รอเวลาใกล้เลือกตั้ง แล้วกำหนดไทม์มิ่งให้ดี ก่อนจัดตั้งพรรคการเมือง อาจจะทำให้มีภาษีดีกว่า การจดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่เนิ่นๆ

ที่ผ่านมาจึงเห็น “กลุ่มแคร์” นำโดยแกนนำเพื่อไทยตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี “กลุ่มคณะก้าวหน้า” นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรณิการ์ วานิช “กลุ่มหมอวงรงค์” นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม “กลุ่มชัชชาติ” นำโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต่างออกก็มาตั้ง “กลุ่มการเมือง”

จุดหมายปลายทางของ “กลุ่มการเมือง” ก็ไปสุดที่จัดตั้ง “พรรคการเมือง” ในอนาคต แทบทุกกลุ่ม