ถอดรหัส 'หมอปราเสริฐ' เดิมพันครั้งใหญ่ 'อู่ตะเภา'

ถอดรหัส 'หมอปราเสริฐ'  เดิมพันครั้งใหญ่ 'อู่ตะเภา'

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่ก่อตั้งโดย นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ตั้งแต่ปี 2511 ได้พัฒนาธุรกิจมาต่อเนื่องและเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด”

และในปี 2532 ได้สร้างสนามบินแห่งแรกที่เกาะสมุย จนกระทั่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารสนามบินรวม 3 แห่ง คือ สมุย สุโขทัยและตราด

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ Lead Firm ร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามกิจการร่วมค้าบีบีเอส ชนะประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563

พร้อมทั้งตั้งบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อบริหารโครงการนี้ ตั้งงบลงทุน 186,566 ล้านบาท และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท ในช่วงสัญญา 50 ปี เพื่อบริหารสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความสำคัญ และเหตุผลของการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยระบุว่า ประวัติความเป็นมาเมื่อ 50 ปีที่แล้วของสนามบินอู่ตะเภา ย้อนกลับไปแล้วโครงการนี้เป็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2506 และปี 2508 เกิดสงครามเวียดนาม

“ระหว่างนั้นมีสนามบินอู่ตะเภาเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมมีส่วนเกี่ยวข้องนิดหน่อย จึงอยากให้รู้ว่าเพราะอะไรทำไมสนามบินอู่ตะเภาต้องอยู่ตรงนี้”

สนามบินอู่ตะเภา ถูกสร้างช่วงสงครามเวียดนาม โดยสนามบินแห่งนี้ไม่ผิดกฎเกณฑ์ข้อบังคับอะไร สร้างมาถูกต้อง ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพราะรองรับทางวิ่งขึ้นลงอากาศยานด้านทะเล ดังนั้นเมื่อเทียบกับสุวรรณภูมิ จะเห็นว่าเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิ หากจะขึ้นลงทุกเส้นทางต้องลงทะเลอ่าวไทยก่อน ดังนั้นที่ตั้งอู่ตะเภาจึงเหมาะสม

หลังจากนั้น สศช.ได้นำสนามบินอู่ตะเภามาพัฒนาต่อ โดยยังไม่มีท่าเรือแหลมฉบังและมีเฉพาะท่าเรือจุกเสม็ด แต่ช่วงนั้นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาไม่เกิดขึ้นเพราะติดขัดเรื่องงบประมาณทำให้โครงการเงียบไป

ต่อมา สศช.นำมาพิจารณาอีกครั้งปี 2530 ผ่านโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด บนพื้นที่ 20,000 ไร่ ครอบคลุมชลบุรีและระยอง โดย สศช.มีแนวคิดเชิญอุตสาหกรรม 37 โรงงานมาลงทุนและผลิตเสร็จขึ้นเครื่องไปต่างประเทศเลย แต่ปี 2531 มีปัญหางบประมาณจึงทำโครงการนี้ไม่สำเร็จ

“สิ่งที่อยากจะเล่าความเป็นมาของอู่ตะเภาให้ฟัง เพราะอยากจัดลำดับให้เห็นว่ามี สศช.ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จนมาถึงอีอีซี ซึ่งผมมองว่าจะสำเร็จคราวนี้”

อีกทั้งจุดยุทธศาสตร์ของอู่ตะเภาได้วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานทางถนน เพื่อเชื่อมแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอีอีซี โดยตัดถนนจากอู่ตะเภาเชื่อมนครราชสีมาแล้ว ดังนั้นถ้าโครงการสำเร็จ จะทำให้แรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาที่อู่ตะเภา และอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูง ถ้าแรงงานทั้งหมดมาที่นี่จะใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะเกิดการใช้จ่ายเกิดขึ้น อู่ตะเภาได้เปรียบทั้งตอนนี้และอนาคต เพราะปัจจัยหนุนทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศ

“วันนี้การที่เราทำถูกต้องแล้ว เรามองเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ที่ผ่านมาการทำสนามบินไม่ใช่เรื่องง่าย แต่งานนี้เราทำให้รัฐ ดังนั้นรัฐจะช่วยเรา เชื่อว่าอีก 30 ปีข้างหน้า คนก็จะมาถามว่าอีอีซีตอนนี้เสียค่าโง่ให้เอกชนไปแล้ว เงินค่าโง่แค่ 3 แสนล้าน”

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า เหตุผลที่บางกอกแอร์เวย์สเข้ามาประมูลโครงการนี้มาจาก 3 ปัจจัย คือ 

  • 1.ขีดความสามารถของสุวรรณภูมิและดอนเมืองจะไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสาร โดยปี 2573 ผู้โดยสารจะเดินทางเข้าไทยถึง 200 ล้านคนต่อปี แต่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองรับได้เพียง 160 ล้านคนต่อปี
  • 2.ผลการศึกษาพบว่าจากนี้อีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มจาก 30% ของสัดส่วนการเดินทางทั่วโลก เพิ่มเป็น 43% จึงเป็นอีกเหตุผลที่ควรพัฒนาสนามบินแห่งที่ 3
  • 3.การลงทุนในอีอีซีทำให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นอีกมาก จึงกลายเป็นโอกาสในการสร้างเมืองใหญ่เกิดขึ้น

159306939314