'ปชป.' เสนอใช้งบปี 64 หนุนลดงบซื้ออาวุธ-งบดูงานไม่จำเป็น

'ปชป.' เสนอใช้งบปี 64 หนุนลดงบซื้ออาวุธ-งบดูงานไม่จำเป็น

"ปชป" เสนอ 4 ประเด็นใช้งบประมาณ 64 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ย้ำเน้นฐานราก-ตัดเพิ่มงบซื้ออาวุธ-เฉือนงบดูงานไม่จำเป็น

ที่รัฐสภา นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ในฐานะที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา แถลงข่าวประเด็นความเห็นต่อการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 

นายปริญญ์ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ตั้งไว้ 3.3 ล้านล้านบาท ควรมีการปรับลดลงหรือไม่เนื่องจากการคาดการณ์รายได้ ได้มีการปรับลงจาก 2.777 ล้านล้านบาท เหลือ 2.677 ล้านล้านบาท จากประมาณการงบประมาณปี 63 ที่ได้ตั้งไว้คือ 2.731 ล้านล้านบาท ซึ่งจริงๆ แล้วควรมีการปรับลดลงมากกว่านี้ ภายหลังจากได้เห็นผลกระทบเชิงลบจากพิษโควิด-19 ซึ่งการปรับลดรายได้ทําให้วงเงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 623,000 ล้าน โดยสัดส่วนของวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไม่ควรเกิน 20% ของงบประมาณ จึงมีข้อเสนอต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แยกเป็น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.การหารายได้เพิ่ม จากกรณีกระทรวงคลังมีการเก็บ VAT จากการบริการของแพลตฟอร์มออนไลน์ตามที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัยเคยเสนอ แต่ยังไม่ครอบคลุมเนื่องจากทีมฯ ต้องการผลักดันให้เก็บภาษีจากยอดขาย Sales Tax ของบริษัทยักษ์ใหญ่ออนไลน์ด้วย ตามที่สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ได้เริ่มเก็บแล้วและอีกหลายประเทศกําลังจะทําตามมา โดยที่ประเทศไทยสามารถทําร่วมกับนานาชาติด้วยได้ยิ่งดี เพราะต้องร่วมมือกันแบบข้ามพรมแดน รวมถึงการเก็บภาษีเดินทางออกนอกประเทศ Sayonara tax แบบที่ญี่ปุ่นทำก็สามารถเสริมรายได้เช่นเดียวกับ และปรับโครงสร้างภาษีพลังงาน ตามที่กรมสรรพสามิต เสนอให้มีภาษีคาร์บอน (Carbon tax) ซึ่งเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์จูงใจให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการสนับสนุนพลังงานทางเลือก เพื่อลดต้นทุน และส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อม

2.การลดรายจ่าย โดยการรักษาวินัยทางการคลังเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลต้องกล้าที่จะตัดสินใจปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในปี 2564 ออก หรือเลื่อนการจ่ายออกไปก่อน ถึงแม้จะมีการปรับลดมาบ้างแล้วแต่ยังน้อยเกินไป ในขณะที่มีงบประมาณ 4 แสนล้านมาฟื้นฟูพิษโควิดบวกกับเงินกู้และการโอนงบแล้ว และที่สำคัญควรลดงบประมาณการเดินทางต่างประเทศ การซื้ออาวุธหรือการดูงานที่ไม่จำเป็น

3.การจัดสรรงบประมาณ ต้องการให้มีการจัดสรรงบประมาณมุ่งเน้นไปที่ท้องถิ่น และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ด้านการศึกษา ต้องจัดสรรงบเน้นช่วยโรงเรียนในต่างจังหวัดที่คุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน พัฒนาครูและผู้เรียน ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันในทุกพื้นที่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านอาชีวศึกษาและอาชีวะเกษตร ให้คนคืนถิ่น ไม่เกิดการกระจุกตัวในเมือง รวมถึงเรื่องการตรวจสอบงบประมาณท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรงบโควิดไปเยอะมาก ไม่ให้มีการทุจริต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สําคัญมาก เพราะทุกบาททุกสตางค์ต้องนําไปใช้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง  

4.การสร้างงานและแรงงานฝีมือ วิชาชีพยุคใหม่ การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ควรมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้เข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัย และช่องทางการตลาดยุคใหม่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การนําเอาข้อมูลมาจัดเก็บ Big Data และใช้ขับเคลื่อนนโยบายบูรณาการ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด พัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีมูลค่าสูงขึ้น มีการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนได้ผลประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แจกเงิน 3 พัน ให้ไปใช้กับที่พัก เพราะจะเป็นการช่วยโรงแรม 4-5 ดาว ที่มีศักยภาพมากกว่า แต่กลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก 1-3 ดาวที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดจะไม่ได้รับการสนับสนุน

"วิกฤตโควิด -19 คราวนี้ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาต้องเน้นการแก้เป็นรายประเด็นเชิงพื้นที่ ไม่ใช่การแก้ปัญหาในวงกว้างแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยคนตัวเล็กให้อยู่รอด อย่าไปเน้นที่ตัวเลข GDP แต่ควรเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ให้ทุกคนรอดเหมือนๆ กัน ไม่ใช่การอุ้มแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" นายปริญญ์ กล่าว