ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน บังคับสูญหาย คุ้มครองสิทธิคนที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน บังคับสูญหาย คุ้มครองสิทธิคนที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน บังคับสูญหาย เพื่อคุ้มครองสิทธิทุกคนที่ถูกกระทำโดย "เจ้าหน้าที่รัฐ" ให้ สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ฟ้องร้องในคดีได้ 

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63  ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี 3 ประเด็นหลักๆด้วยกัน คือ

  1. เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว
  3. เพื่อขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชน

ทั้งนี้ เหตุจำเป็นที่ต้องร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะปัจจุบันนี้ยังมีการกระทำทรมาน และทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ ยังมีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติเรื่องการงดเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกัน และเยียวยาในกรณีการกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย เพราะฉะนั้น การตราร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมากไปกว่านั้น

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นมาตรการสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น เป็นการกำหนดฐานวามผิด การกระทำทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย มีการกำหนดมาตรการป้องกันการเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดี สำหรับความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตราฐานสากล  ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง

โดย สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องในคดีได้ และมีการกำหนดให้ความผิดตามพ.ร.บ.นี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่คดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน

นอกจากนี้ ในร่างพ.ร.บ.ยังได้ระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย เช่น ผู้ใด ความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้บแต่ 1 ปี - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้น หลังจาก ครม. เห็นชอบแล้วจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบพิจารณาอีกครั้ง ก่อนให้สภาฯพิจารณาต่อไป