เด็กไทยสุดเสี่ยงปัญหา 'กลั่นแกล้งออนไลน์'

เด็กไทยสุดเสี่ยงปัญหา 'กลั่นแกล้งออนไลน์'

“ดีแทค” เผยชาวเน็ตไทยเสี่ยงเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สูงขึ้น พบข้อความสร้างความเกลียดชังบนโซเชียล 39 ข้อความต่อนาที กว่าครึ่งเป็นการเหยียดรูปลักษณ์ เพศวิถี ทัศนคติ

“ดีแทค” เผยชาวเน็ตไทยเสี่ยงเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สูงขึ้น พบข้อความสร้างความเกลียดชังบนโซเชียล 39 ข้อความต่อนาที กว่าครึ่งเป็นการเหยียดรูปลักษณ์ เพศวิถี ทัศนคติ ด้าน "เอไอเอส" ชี้เด็กไทยเกี่ยวข้องกับการรังแก-เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กประเทศอื่น

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ร่วมกับ ไวซ์ไซท์ รวบรวมข้อความต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูป ฟอรั่ม และบล็อกข่าวในประเทศช่วงเดือน พ.ย.2561-ต.ค.2562 พบว่า โลกออนไลน์ของไทยประกอบด้วยข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ แกล้ง ล้อ และเหยียด ราว 7 แสนข้อความ หรือเฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาที

นอกจากนี้ มีการขยายความต่อผ่านการรีทวีต ไลก์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวทั้งสิ้นราว 20 ล้านรายการ โดยลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียของไทยนั้น 36.4% เป็นการบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ ตามด้วย 31.8% การบูลลี่ทางเพศวิถี และ 10.2% การบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ ส่วนที่เหลือเป็นการบูลลี่ด้านอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา บุคลิกลักษณะนิสัย รสนิยมความชอบ ฐานะทางการเงิน และครอบครัว ฯลฯ

นอกจากนี้ พบว่าการแกล้งกันทางออนไลน์ส่วนมากพบในวงการการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยม โดยมีเพื่อนเป็นคนที่ปรากฏในข้อความที่พูดถึงการบูลลี่มากที่สุด สะท้อนได้ว่าโซเชียลมีเดียของไทยในทุกแพลตฟอร์มล้วนประกอบไปด้วยข้อความที่สร้างความเกลียดชังผ่านการแกล้งกันทางออนไลน์ เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงอย่างมากทั้งการเป็นผู้แกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้ง

ด้านนางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เป็นปัญหาสากลที่พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและใช้สื่อดิจิทัลออนไลน์ในการเข้าถึงการเรียนรู้ สาระประโยชน์ ความบันเทิง และโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้เด็กไทยเสี่ยงภัยจากการรังแกบนโลกออนไลน์เพิ่มจากการใช้สื่อดิจิทัลที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง ก็จะยิ่งทำให้ขาดทักษะความฉลาดทางดิจิทัลในการตระหนักรู้ แยกแยะ และสามารถรับมือกับการรังแกบนโลกออนไลน์ได้

ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) จากความร่วมมือระหว่างเอไอเอส และ สถาบันดีคิว โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมเด็กไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 44,000 คน จาก 450 โรงเรียนทั่วประเทศในปี 2562 พบว่า เด็กไทยมีโอกาสเผชิญกับอันตรายต่างๆ บนโลกออนไลน์ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การรังแกออนไลน์, การใช้เทคโนโลยีอย่างไม่มีวินัย, ความเสี่ยงจากการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม, ความเสี่ยงจากการพบคนแปลกหน้า, การถูกคุกคามในโลกไซเบอร์ รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง

สำหรับประเด็นของการถูกรังแกบนโลกออนไลน์พบว่า 48% ของเด็กไทยเคยเกี่ยวข้องกับการรังแกบนโลกออนไลน์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 33%, 41% ของเด็กไทยเคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์ ค่าเฉลี่ยของทั่วโลก 39%, เด็กผู้ชาย 56% รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการรังแกออนไลน์มากกว่าเด็กผู้หญิง 41%, จำนวนเด็กผู้ชายและผู้หญิงที่เคยถูกรังแกมีสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยในกลุ่มของเด็กอายุ 13 ปี ขึ้นไปพบว่าเด็กผู้หญิงที่เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์มีจำนวน 43% ขณะที่เด็กผู้ชาย 37%