‘คนรุ่นใหม่’ แห่เปิดพอร์ตหุ้น เผย ‘4 เดือนแรก’ ยอดทะลุ 8.7 หมื่นราย

‘คนรุ่นใหม่’ แห่เปิดพอร์ตหุ้น เผย ‘4 เดือนแรก’ ยอดทะลุ 8.7 หมื่นราย

ตลาดหลักทรัพย์ เผย ยอดเปิดบัญชีเทรดหุ้นใหม่ทะลัก 4 เดือน มีนักลงทุนหน้าใหม่กว่า 8.7 หมื่นราย เกินครึ่งอายุต่ำกว่า 30 ปี ขณะ สัดส่วนการซื้อขายของรายย่อยพุ่งแตะ 48% ด้าน โบรกเกอร์ ยอมรับช่วง “โควิด” ระบาด คนแห่เปิดพอร์ตหุ้นอื้อ

ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ผู้เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ ที่ตัดจำนวนการเปิดบัญชีซ้ำกันออกไปในช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 เพิ่มขึ้นกว่า 8.7 หมื่นราย ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า เกิดครึ่งมีอายุน้อยกว่า 30 ปี สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดบัญชีซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น น่าจะมีส่วนช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยในระยะยาว เนื่องจากกลุ่มนี้มีโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นได้นานกว่ากลุ่มอื่นๆ 

สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มูลค่าซื้อขาย(วอลุ่มเทรด)ของตลาดโดยรวมปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 67,199 ล้านบาทต่อวันถือว่าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าวอลุ่มเทรดทั้งปี 2562 ที่อยู่ที่ระดับ 53,152 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่สัดส่วนวอลุ่มของนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 27,118 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 51% จากปีก่อนที่อยู่ระดับ 17,937 ล้านบาทต่อวัน

159231393049  

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนรายบุคคล  ในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักราวเดือนมี.ค.ถึงเม.ย. พบว่าจำนวนผู้เปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ยอดเปิดบัญชีใหม่นับตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนเม.ย. 2563 มียอดเปิดบัญชีใหม่รวมกันกว่า 3 แสนบัญชี โดยแบ่งเป็นในส่วนของยอดเปิดบัญชีแบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 233,740 บัญชี และบัญชีออนไลน์เพิ่มขึ้น 110,283 บัญชี

ทั้งนี้จำนวนยอดเปิดบัญชีใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ส่วนตัวคาดว่าเป็นผลมาจากภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวนิ่งมานานและส่งผลทำให้สัดส่วนนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นพลิกกลับมามีความผันผวนมากขึ้นจึงส่งผลให้นักลงทุนหลายคนโดยเฉพาะนักลงทุนบุคคลมองเห็นถึงโอกาสในการเข้ามาลงทุน ประกอบกับราคาหุ้นที่ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก จึงมีการเข้ามาเก็งกำไรกันเพิ่มสูงขึ้น

“คนมาเปิดบัญชีมากขึ้นเพราะทุกคนรู้ว่าในยามวิกฤติเช่นนี้ต้องหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติมประกอบกับคนรุ่นใหม่ฉลาดมากขึ้นและมีการเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่ง่ายมากกว่าในอดีต จึงทำให้เห็นตัวเลขการเปิดบัญชีของคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

นางภัทธีรา กล่าวต่อว่า ขณะที่อานิสงส์จากนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นยังส่งผลทำให้สัดส่วนวอลุ่มการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อยในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาขึ้นมาทำจุดสูงสุด (พีค) ของปีนี้ที่ระดับ 48% ของยอดวอลุ่มเทรดทั้งหมด สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้วที่ทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 32-33% ของยอดวอลุ่มเทรดทั้งหมด โดยหวังว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยน่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 40% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมมากและถือเป็นจุดดึงดูดของตลาดหุ้นไทย ซึ่งในอดีตวอลุ่มเทรดของนักลงทุนบุคคลเคยมีสัดส่วนสูงสุดถึง 60% ของยอดวอลุ่มเทรดทั้งหมด

นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า นักลงทุนยังคงเข้ามาเปิดบัญชีเทรดหุ้นเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดือนมิ.ย.ลูกค้าเปิดบัญชีวันละ 200 บัญชี เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำทำให้ต้องหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับกว่า 1,300 จุด ก็ยังจูงใจ แม้จะเริ่มมีคนบอกว่าตลาดหุ้นไทยแพง แต่ยังถือว่าดัชนียังต่ำกว่าในอดีตที่ขึ้นไปอยู่ระดับ 1,700 จุด 

รวมถึงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯปรับปรุงเกณฑ์ชอร์ตเซลชั่วคราวที่ให้ขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price)เท่านั้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรดในการชอร์ตหุ้นทำได้ยากขึ้น นักลงทุนรายย่อยจึงกล้าเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นจากที่ผ่านมานั้น ได้ชะลอซื้อขาย ซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 50% จากปีที่แล้วเฉลี่ยเพียงประมาณ 33% และมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอยู่วันละ 1แสนล้านบาทต่อวัน เพราะนักลงทุนรายย่อยเช่นกัน

    ดังนั้นจึงมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯควรที่จะใช้เกณฑ์ชอร์ตเซลชั่วคราวที่ให้ขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price)เป็นการถาวร

“มีนักลงทุนเข้ามาเปิดบัญชีกับบริษัทจำนวนมาก ตอนนี้เฉลี่ยวันละ 200 บัญชี ซึ่งสูงกว่าเดือนพ.ค.  ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีลูกค้าเปิดบัญชีใหม่ประมาณ 7,500-8,000 บัญชีแล้ว โดยเปิดมากขึ้นในช่วงกลางมี.ค.ที่ผ่าน เพราะดัชนีปรับตัวลดลงไป และ ตลท.ออกมาตรการเรื่องชอร์ตเซล”

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET กล่าวว่า ปัจจุบันยอดเปิดบัญชีใหม่ของลูกค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่ามียอดเปิดบัญชีใหม่กว่า 1,000 บัญชีต่อเดือน จากเดิมที่อยู่เพียงระดับ 100-200 บัญชีต่อเดือน ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกรณีที่นักลงทุนรายบุคคลเห็นทิศทางราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรงในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับเห็นโอกาสของภาวะตลาดที่มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังตลาดหลักทรัพย์ฯมีการปรับเกณฑ์ต่างๆ อาทิ เกณฑ์ชอร์ตเซล เป็นต้น จึงทำให้มีการโยกเงินกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

ทั้งนี้มองว่าคุณภาพและจุดดึงดูดของตลาดหุ้นไทยคือความหลากหลายของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันตลาดหุ้นเริ่มกลับมามีสัดส่วนนักลงทุนรายบุคคลเข้าใกล้ระดับ 50% ถือเป็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่นักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาลงทุนแนะนำต้องดูปัจจัยพื้นฐานและติดตามข้อมูลข่าวสาร รวมถึงบทวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนด้วย โดยสำหรับนักลงทุนวัยรุ่นแนะนำการเลือกซื้อหุ้นแบบถั่วเฉลี่ย (DCA) ก็ถือว่าเป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจ