New Normal 'คนพิการ' เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ

New Normal 'คนพิการ' เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ

สธ.ผนึกภาคีเครือข่ายสุขภาพ จัด 5 แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลปรับรูปแบบบริการฟื้นฟู ช่วยผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฐานชีวิตวิถีใหม่

วันนี้ ( 12 มิถุนายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับรูปแบบการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฐานชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้ผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ เข้าถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ลดความแออัด เพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย สภากายภาพบำบัด สมาคมนักกิจรรมบำบัด/อาชีวบำบัดแห่งประเทศไทย สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย สมาคมกายอุปกรณ์ไทย ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม จัดทำแนวทางปฏิบัติการสำหรับสถานพยาบาลในการปรับรูปแบบบริการฟื้นฟูในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ให้สถานพยาบาลนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของสถานพยาบาลแต่ละพื้นที่



ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติประกอบด้วย 1.การใช้เทคโนโลยีคัดกรองก่อนมาถึงโรงพยาบาลและก่อนเข้ารับบริการฟื้นฟู 2.การจัดกลุ่ม คัดแยก จัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วย โดยประเมินจากความจำเป็นของบริการฟื้นฟู และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แบ่งเป็น กลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับบริการฟื้นฟูที่สถานพยาบาล ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองในระยะทองคือ 6 เดือนแรก ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน และกลุ่มผู้สูงอายุ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาการไม่เปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องมาสถานพยาบาล

3.ตรวจหาเชื้อโควิด 19 สำหรับผู้ที่ความเสี่ยง เช่น มีปัญหาการกลืน และการขับเสมหะ 4.ปรับสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาล โดยคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายเชื้อ ได้แก่ การระบายอากาศ การจัดระยะห่างของที่นั่งรอคอย/ เตียงบำบัด ความสะอาดของอุปกรณ์ อาคารสถานที่ เป็นต้น 5. การนัดหมายล่วงหน้า ผ่านไลน์ โทรศัพท์ หรือเว็บไซต์

รวมถึงได้เพิ่มรูปแบบบริการฟื้นฟูเพื่อการเข้าถึง ได้แก่ การฟื้นฟูทางไกลด้วย VDO call (Tele-rehabilitation) การเยี่ยมบ้านให้คำแนะนำการฟื้นฟูโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ การให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บริการส่งยาทางไปรษณีย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาการคงที่ และสร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นในเครือข่ายสถานพยาบาล โดยมีสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลฟื้นฟูระดับตติยภูมิ เป็นต้นแบบการดำเนินงาน

ด้าน นพ.สาธิต สันตดุสิต ผอ.สถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสถาบันฯ จึงเริ่มเปิดให้บริการฟื้นฟูเกือบจะเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยยังคงมาตรการควบคุมโรคเข้มข้น คือต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าผ่านการโทรศัพท์ หรือคิวอาร์โค๊ดที่เว็บไซต์สถาบันฯ รวมถึงนัดหมายแอดมิทในกลุ่มคนไข้ที่ต้องฟื้นฟูเร่งด่วน มีการลดจำนวนเตียงจาก 60 เตียง เหลือ 48 เตียง เพื่อเว้นระยะห่างได้ ส่วนการทำกิจกรรมฟื้นฟู การทำกายภาพจะจัดเตียงเว้นเตียง และทำความสะอาดฆ่าเชื้อรองรับคนป่วยที่มารับการฟื้นฟูในรอบต่อไป

ส่วนคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องมาฟื้นฟูที่สถาบันฯ ก็มีการทำวิดีโอสอนการฟื้นฟูที่บ้าน และมีระบบวิดีโอคอลเพื่อติดตามผลเป็นระยะๆ สำหรับการดูแลผู้พิการก็ได้จัดเครือข่ายกระจายอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ โดยในภาคเหนืออยู่ที่ รพ.เวชชารักษ์ จังหวัดลำบาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ รพ.ศรีสะเกษ ภาคกลางอยู่ที่ รพ.เมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง ส่วนภาคใต้อยู่ที่ รพ.นครศรีธรรมราช และกำลังดำเนินการที่ รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และรพ.ยะลา