‘โรงพยาบาล’ ฟื้น! แต่ไม่แจ่ม รอวันโควิดคลี่คลาย

‘โรงพยาบาล’ ฟื้น! แต่ไม่แจ่ม รอวันโควิดคลี่คลาย

ช่วงนี้สภาพอากาศทั่วประเทศไทยเริ่มแปรปรวน มีฝนตกหนักชุ่มฉ่ำในหลายพื้นที่ ถือเป็นสัญญาณเปลี่ยนผ่านฤดู จากหน้าร้อนเข้าสู่หน้าฝน ซึ่งโดยปกติแล้วมักเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของหลายธุรกิจ

ทั้งรับเหมาก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์, โรงไฟฟ้า, โรงแรม, สายการบิน ไปจนถึงธุรกิจค้าปลีก เพราะเมื่อฝนตกกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน โครงการก่อสร้างต่างๆ ล่าช้า โรงไฟฟ้าผลิตไฟได้น้อยลง ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ สินค้าต่างๆ ขายได้ลดลง

แต่สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลแล้ว ฤดูฝนถือเป็นช่วงไฮซีซั่น เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. ของทุกปี ต่อเนื่องไปตลอดช่วงไตรมาส 3 เพราะหน้าฝนมักมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาดต่างๆ คนไม่สบายกันเยอะ ต้องไปโรงพยาบาลไปหาหมอจึงเป็นช่วงที่มีคนไข้มากที่สุดของปี

แต่ปีนี้สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างช่วงที่มีการะบาดหนักๆ คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงออกจากบ้านไม่กล้าไปไหนเพราะกลัวเชื้อโรค ยิ่งโรงพยาบาลมีคนไข้จำนวนมาก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยลดลงอย่างชัดเจน ด้วยข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัย ประกอบกับมีการล็อกดาวน์ปิดประเทศ ห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และขยายเวลามาถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ส่งผลให้คนไข้ต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งหายไปเกือบหมด กระทบผลประกอบการเต็มๆ

อย่างเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ของ “หมอเสริฐ” ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของไทย ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ทรุดหนัก มีกำไรสุทธิ 2,568 ล้านบาท ลดลง 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 8,438 ล้านบาท สืบเนื่องจากรายได้ค่ารักษาพยาบาลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5% จาก 19,793 ล้านบาท เหลือ 18,882 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่ลดลงมาก

โดยกลุ่มลูกค้าหลักจากตะวันออกกลางลดลง 40%, ผู้ป่วยจีนลดลง 32% และผู้ป่วยกลุ่มอาเซียนหดตัว 9% ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยชาวไทยทรงตัว ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2563 ลดเหลือ 29% เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 33% ในทางตรงข้ามสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มเป็น 71% จาก 67%

ด้านบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ที่รายได้หลักมาจากผู้ป่วยต่างชาติ ผลประกอบการอ่อนแอไม่แพ้กัน มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 765 ล้านบาท ลดลงจากช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไร 1,081 ล้านบาท หรือ ลดลง 29% โดยรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติลดลงถึง 16.4% และผู้ป่วยไทยชะลอลงเล็กน้อย 2.5%

ส่วนโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ ภาพไม่ได้ต่างกันมาก ถ้าไม่มีการบันทึกกำไรจากรายการพิเศษเข้ามา ผลประกอบการส่วนใหญ่ชะลอลงเกือบหมด อาจมีบางแห่งที่ปรับตัวไปเน้นกลุ่มลูกค้าประกันสังคม เช่น บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG ที่กำไรยังพอเติบโตอยู่บ้าง

แนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ดูชะลอตัวต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าเดือน เม.ย. น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว หลังผู้ป่วยในประเทศเดือน พ.ค. เริ่มฟื้นตัว  และจะพีคที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ แต่คงจะไม่ได้โดดเด่นเหมือนช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้ป่วยต่างชาติจะค่อยๆ ฟื้น หลังรัฐบาลประกาศยกเลิกการห้ามเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเร็วสุดน่าจะเป็นช่วงเดือน ก.ค. นี้ หนุนผู้ป่วยครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมทั้งปียังไม่แจ่ม 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวิกฤตไวรัสรอบนี้เล่นเอาธุรกิจโรงพยาบาลเจ็บหนักไม่น้อย และถ้ามองไปในระยะยาวการที่จะผลักดันประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค รวมทั้งการรุกตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) กลายเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง

แต่ถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ต้องบอกว่ายังมีโอกาส เห็นได้จากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มข้นของไทย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศลดลงต่อเนื่องมา 17 วัน แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย

ดังนั้น ถ้าทุกคนยังการ์ดไม่ตก และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ได้ หลังปลดล็อกทุกธุรกิจกลับมาเปิดได้เหมือนเดิม ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น การันตีความแข็งแกร่งของระบบการแพทย์ไทย