ฝากประชาชนประเมินสุขภาพจิตผ่านแอพฯช่วงโควิด-19

ฝากประชาชนประเมินสุขภาพจิตผ่านแอพฯช่วงโควิด-19

สธ.ย้ำ 14 วันใน Start Quarantineเหมาะสม พร้อมเปิดข้อมูลการตรวจพบเชื้อ ผ่านไป 21 วันยังพบผู้ติดเชื้อ ฝากประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ สบายใจได้ต้องพ้น 1 เดือน แนะประเมินสุขภาพจิตผ่านแอพพลิเคชั่น โทรปรึกษาสายด่วน 1323

วันนี้ (8 มิ.ย. 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากการพบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วงหลังๆ จะเป็นผู้ป่วยใน Start Quarantine จำนวนมาก ซึ่งการตรวจ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศประมาณ 25,000 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อ 175 ราย เป็นผู้มีอาการ 93 ราย ร้อยละ 53.1 มีอาการไข้ ไอ น้ำมูกก่อนเข้า Start Quarantine 54 ราย ร้อยละ 58.1 ซึ่ง การดูแลมีการปรับปรุงใน 2 ช่วง คือ ผู้ที่เข้าก่อนวันที่ 27 เม.ย.2563 ได้รับการตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการวันที่ 5 -8 ของวันมาถึง และผู้ที่เข้าตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2563 ได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการวันที่ 3-5 และ 11-13 ของวันที่มาถึง

ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลาของการตรวจพบเชื้อนับจากวันเข้า Start Quarantine พบว่าผู้ติดเชื้อมีอาการ ตรวจพบเชื้อ 0-2 วัน มี 65 ราย ร้อยละ 69.9  ตรวจพบเชื้อ 3-4 วัน มี 17 ราย ร้อยละ 18.3 ตรวจพบเชื้อ 5-6 วัน มี 3 ราย ร้อยละ 3.2  ตรวจพบเชื้อ 7-8 วัน  มี4 ราย ร้อยละ4.3  ตรวจพบเชื้อ 11-12 วัน มี 4 ราย ร้อยละ 4.3 และผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ

 ตรวจพบเชื้อ 0-2 วัน มี 21 ราย ร้อยละ 25.6  ตรวจพบเชื้อ 3-4 วัน มี 13 ราย ร้อยละ 15.9  ตรวจพบเชื้อ 5-6 วัน มี28 ราย ร้อยละ 34.1 ตรวจพบเชื้อ 7-8 วัน มี 6 ราย ร้อยละ 7.3 ตรวจพบเชื้อ 9-10 วัน มี 2 ราย ร้อยละ 2.4  ตรวจพบเชื้อ 11-12 วันมี 7 ราย ร้อยละ8.5 ตรวจพบเชื้อ13-14 วัน มี 4 ราย ร้อยละ 4.9 และ ตรวจพบเชื้อ 21 วัน มี 1 ราย ร้อยละ 1.2 

ภาพรวมการตรวจพบเชื้อ สรุปได้ว่าตรวจพบเชื้อ 0-2 วัน มี 86 ราย ร้อยละ 49.1 ตรวจพบเชื้อ 3-4 มี 30 รายร้อยละ 17.1 ตรวจพบเชื้อ 5-6 วัน มี 31 ราย ร้อยละ 17.7 ตรวจพบเชื้อ 7-8 วัน มี 10 ราย ร้อยละ 5.7 ตรวจพบเชื้อ 9-10 วัน มี 2 ราย ร้อยละ 1.1 ตรวจพบเชื้อ 11-12 วัน มี  11 ราย ร้อยละ 6.3 ตรวจพบเชื้อ 13-14 วัน มี 4 ราย ร้อยละ 2.3 และตรวจพบเชื้อ 21 วัน มี 1 รายร้อยละ 0.6

นพ.อนุพงศ์ กล่าวต่อว่าจากการดำเนินการตรวจอาการของทุกคนที่มาจากสนามบินสุวรรณภูมิ ถ้ามีอาการก็จะไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเชื้อ แต่คนที่มาถึงแล้วไม่มีอาการ ทุกรายจะได้เข้า Start Quarantine ซึ่งระยะเวลา 14 วัน ในสถานที่ Start Quarantine นั้นยังเหมาะสม แต่ต่อให้วันนี้เป็นวันที่ 14 ที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ เป็นสถานการณ์อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง

แต่หลักการควบคุมโรคต้องดูถึง 2 เท่าของระยะการฟักตัวของโรค ถ้าหากประเทศสามารถยืนระยะได้ไปการติดเชื้อ 0 รายในระยะวันที่ 30 หรือครบ 1 เดือน จะสร้างความสบายใจมากกว่านี้  และจะสามารถขยายกิจการ/กิจกรรมไปเรื่อยๆ

“ขณะนี้ กำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 มีกิจการ/กิจกรรมหลายอย่างที่มีความเสี่ยง เช่น การเปิดเรียน  เพราะจากประสบการณ์จากต่างประเทศ การเปิดเรียนอีกครั้งมักพบการระบาดในโรงเรียน ซึ่งการระบาดอาจจะเป็นภายนอกในโรงเรียนก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง ดังนั้น ถ้าหลัง 1 ก.ค.เป็นต้นไป มาตรการดีขึ้นจะเป็นเรื่องดี ดังนั้น ตอนนี้ต่อให้ถึงวันที่ 14  ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่การออกนอกบ้าง อยู่ในบ้าน ทุกคนต้องปฏิบัติ ไม่ลืมจะใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด -19 นั้น แบ่งออกเป็น 4 คลื่น ดังนี้ คลื่นลูกที่ 1 ช่วงแรกของโรคระบาด พบผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตต่อเนื่อง  ซึ่งมีการกระจายผู้ป่วย และเมื่อเกิดคลื่นลูกที่ 2 มีคนไข้เร่งด่วนไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ต้องได้รับการดูแลกลับมาแบบทะลัก จนทรัพยากรไม่พอ คลื่นลูกที่ 3 ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ถูกชะลอพบแพทย์ต้องกลับมาโรงพยาบาล และคลื่นลูกที่ 4 ผลกระทบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เครียด เหนื่อยล้า หมดไป ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย 

จากจำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวช ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.2563 พบว่า  จำนวนผู้ป่วยมาโรงพยาบาลลดลง ร้อยละ 31   ขณะที่จำนวนผู้ป่วยใน พบว่าลดลง เหลือ 47.6% เนื่องจากโรงพยาบาลได้มีมาตรการลดการให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล โดยได้มีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยมากขึ้น  แต่หลังจากนี้มีมาตรการผ่อนปรนต่างๆ มาขึ้น

ฉะนั้น การคาดการณ์สุขภาพจิตกับประชาชน จำนวนคนใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นจากความเครียดทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเดิม จำนวนผู้ป่วยใช้บริการมากขึ้น ทำให้กระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้รับบริการ และจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น จากการรักษาไม่ต่อเนื่องและขาดยา

นพ.บุรินทร์  สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ทางกรมสุขภาพจิตได้มีการบริการดูแลสุขภาพจิตด้วยตนเองของประชาชน ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check up  ซึ่งประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตของตนเองและทางกรมสุขภาพจิต ยังมีบริการความรู้ด้านสุขภาพจิต สื่อออนไลน์แบบ e-learning สร้างความเข้มเข็งทางจิตใจ

นอกจากนั้นมีบริการสายด่วน1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ที่จะให้ปรึกษาผ่านโทรศัพท์ได้ทันที  และมีบริการ Chat bot 1323  ตอบปัญหาทั่วไปและปัญหาด้านสุขภาพจิต

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีภาวะความเครียดอยากมาโรงพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลไม่ได้ขัดข้อง แต่จากสถานการณ์การแพร่โควิด-19 อยากให้ประชาชนประเมินสุขภาพจิตของตนเองก่อน และหากอยากมาโรงพยาบาลจริงๆ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ