ผลกระทบโควิด-19 คนไทยไร้กันชนการเงิน เข้าไม่ถึงสวัสดิการ

ผลกระทบโควิด-19 คนไทยไร้กันชนการเงิน เข้าไม่ถึงสวัสดิการ

มีการประมาณการณ์ว่า หากโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อจะมีผู้ที่ตกงานราว 10 ล้านคน แม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่เล็ดลอดออกจากตาข่าย หลายคน ไร้กันชนทางการเงิน เข้าไม่ถึงสวัสดิการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ที่ผ่านมา สภาหอการค้าไทย ประเมินว่าเดือน มิถุนายน จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน โดยกว่า 95% หรือราว 6.77 ล้านคน เป็นแรงงานมีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท และหากเชื้อไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน คนอาจตกงานเพิ่มถึง 10 ล้านคน ในกรณียังไม่คลายล็อกดาวน์

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับภาวะการทำงานของประชากร (ณ เดือนมีนาคม 2563) พบว่าผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 56.77 ล้านคน "ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน" 38.21 ล้านคน แบ่งเป็น มีงานทำ 37.33 ล้านคน ว่างงาน 3.92 แสนคน และรอฤดูกาล 4.90 แสนคน ส่วน "ผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน" 18.56 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน อยู่ที่ราว 26,018 บาท (ข้อมูลปี 2562)

ทั้งนี้จากผลสำรวจคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19” ระหว่างวันที่ 14 – 24 พฤษภาคม 2563 ผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด 1,998 คนทั่วประเทศ โดย “ดร.เดชรัต สุขกำเนิด” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นำเสนอภายในงาน แถลงข่าว “ทุกข์ถ้วนทั่ว ต้องอุดรอยรั่ว ด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” จัดโดย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา

พบว่า ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ประชาชนร้อยละ 72 มีรายได้ประจำและมีงานทำ โดยร้อยละ 45 มีรายได้ใกล้เคียงกับรายจ่าย ร้อยละ 24 มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ร้อยละ 25 มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และมีครัวเรือนอีกประมาณร้อยละ 6 แทบไม่มีรายได้เลย

159128534925

ด้าน “กันชนทางการเงิน” ที่รองรับกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 19 มีทรัพย์สินทางการเงินที่รองรับกับสถานการณ์ได้ไม่เกิน 1 เดือน ร้อยละ 36 รองรับได้เพียง 1-3 เดือน ร้อยละ 20 รองรับได้ 4-6 เดือน และเพียงร้อยละ 7 ที่รองรับได้มากกว่า 1 ปี ขณะเดียวกัน การสำรวจยังพบว่าร้อยละ 18 ไม่เคยประเมินกันชนทางการเงินของตนเอง

ผลกระทบทางระบบเศรษฐกิจ ที่พบมากที่สุด คือ ร้อยละ 51 ยอดขาย/รายได้ลดลง ตามมาด้วย ร้อยละ 28 สถานที่ขาย/ทำงานถูกปิดทั้งหมด ร้อยละ 26 สถานที่ขายถูกปิดทั้งหมดหรือบางส่วน ร้อยละ 14 ถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 10 คู่ค้าไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ และมีครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบเพียงร้อยละ 10 ของครัวเรือนตัวอย่างเท่านั้น

ด้านรายได้ที่ลดลง หลังจากประสบกับสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดย ร้อยละ 27 มีรายได้ลดลงตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และร้อยละ 27 มีรายได้ลดลงระหว่าง 50-74% นอกจากนี้ ร้อยละ 18 มีรายได้ลดลง 25-49% ร้อยละ 11 ที่มีรายได้ลดลง 10-24% และร้อยละ 6 ที่มีรายได้ลดลงน้อยกว่า 10% ตามลำดับ ทั้งนี้ มีเพียงแค่ร้อยละ 11 ของครัวเรือนตัวอย่างทั้งหมดที่มีรายได้เท่าเดิม และที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีน้อยกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น

ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.3 รับมือด้วยการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลง ร้อยละ 41.3 ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ร้อยละ 28.8 หารายได้เสริม ร้อยละ 22 จำนำหรือขายทรัพย์สิน ร้อยละ 13 กู้เงินจากญาติ พี่น้อง และ ร้อยละ 7.5 จำเป็นต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ

159128534839

สำหรับ ความคิดเห็นต่อระบบสวัสดิการของรัฐในการช่วยเหลือเยียวยา พบว่า ร้อยละ 47.2 ได้รับสวัสดิการการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ร้อยละ 37.0 ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ร้อยละ 27.3 ได้รับการแจกอุปกรณ์ป้องกันโรค ร้อยละ 18.8 ได้รับการแจกอาหารและถุงยังชีพ ร้อยละ 12.9 ได้รับการพักชำระหนี้ และเกษตรกรเพียงร้อยละ 12.7 ได้รับเงินเยียวยา ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า การเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่จัดให้ของครัวเรือนตัวอย่างยังไม่ทั่วถึงมากนัก เพราะแม้แต่มาตรการที่ครัวเรือนเข้าถึงมากที่สุดอย่างการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ก็ยังมีครัวเรือนน้อยกว่าร้อยละ 50 ที่เข้าถึงได้

ด้านความพึงพอใจต่อสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้ พบว่า สวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้คะแนนด้านความเพียงพอ เพียง 2.06 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ด้านความทั่วถึง 1.90 คะแนน ด้านความสะดวก 1.95 คะแนน และความเหมาะสมเพียง 2.18 คะแนน คะแนนทั้งหมดล้วนน้อยว่า 2.5 จาก 5 คะแนน แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อระบบสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้

อุปสรรคที่พบมากที่สุดในการขอรับสวัสดิการของรัฐ กว่าร้อยละ 74 คือ ความยุ่งยากในการลงทะเบียนและขั้นตอนขอรับความช่วยเหลือ ตามมาด้วย ร้อยละ60 ความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบ และ ร้อยละ 47 คือการใช้อินเตอร์เน็ตในการลงทะเบียน

"การสำรวจครั้งนี้ทำให้เห็นว่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ครัวเรือนไทยจำนวนมาก มีความเปราะบางทางการเงินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาท/เดือนลงมา จะมีกันชนทางการเงิน หรือมีสินทรัพย์ทางการเงินที่สามารถรองรับกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพียงไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น ความเปราะบางดังกล่าวบ่งบอกว่า ครัวเรือนไทยไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตขนานใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง“รัฐบาลควรเปลี่ยนเป็น Demand Side ให้เงินไปถึงประชาชน และให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะใช้เงินอย่างไร ตอนนี้ประชาชนกันชนทางการเงินจำกัด หากไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้าคนจะตกหล่นเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ” ดร.เดชรัต กล่าว

แรงงานนอกระบบเข้าไม่ถึงเยียวยา 

ปัจจุบัน “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีอยู่ราว 25 ล้านคนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 คนที่ทำงานก็ตกงาน ค้าขายไม่ดี ขาดรายได้ ขณะที่เรื่องปากท้องยังคงต้องดำเนินต่อไปในทุกวัน “สุจิน รุ่งสว่าง” ผู้แทนเครือข่ายงานแรงงานนอกระบบ ระบุว่าหลังจากมีมาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลายคนโทรศัพท์ลงทะเบียนไม่ได้ ลงไม่เป็น ทำให้ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง ต้องให้คนอื่นกรอกรายละเอียดให้ ในส่วนของมาตรการของการคัดกรองผู้ที่ได้รับการเยียวยาควรจัดสวัสดิการให้กับทุกคนอย่างถ้วนหน้า

“หลายคนในชุมชนพยายามเอาไปซื้อของมาขายเพื่อต่อยอดให้ตัวเองมีรายได้ พอเริ่มมาตรการผ่อนคลาย ต้องมาคิดกันว่าจะอยู่อย่างไรต่อกับชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไป คนที่เคยทำงาน ก็ไม่มีงานทำแล้ว คนที่ค้าขายก็ปิดไปเลย เพราะไม่ไหว” สุจินกล่าว

ขณะเดียวกัน เนืองนิจ ชิดนอก” ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค สะท้อนมุมมอง คนจนเมืองในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ประสบปัญหาตั้งแต่ในช่วงแรก ทั้งการเข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ การเยียวยาลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ไม่สามารถต่อยอดอาชีพได้ในกลุ่มของคนจน คนไร้บ้าน หลายคนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง กลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่ม มาตรการเคอร์ฟิว ทำให้เข้ามาอยู่ในศูนย์คนไร้บ้านมากขึ้น พอเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย ไม่มีทุนเป็นความทุกข์ มาตรการเยียวยาวเข้าถึงยาก

  • มาตรการเยียวยา3กลุ่มเปราะบาง

วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม เป็นเวลา 3 เดือน เดือนละ 1,000 บาท จำนวน 13 ล้านคน 3 กลุ่มด้วยกัน

159128533694

1. กลุ่มเด็กแรกเกิด - 6 ปี รายได้ครอบครัวเฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ไม่เกิน 1,451,468 คน เพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือโครงการ “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด” เดือนละ 600 บาทอยู่แล้ว คาดว่าจะเริ่มจ่ายในเดือนมิถุนายน เป็นเงิน 2,600 บาท เดือนกรกฏาคม จะได้รับเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่เหลืออีก 1,000 บาท และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอีก 600 บาท เป็น 1,600 บาท

2. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 9,664,111 คน แต่เดิมมีเบี้ยช่วยเหลือ 600 - 1,000 บาทต่อเดือน ได้เพิ่มเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน หากผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยลงทะเบียนสามารถติดต่อสอบถามไปที่ อบต.,เทศบาลที่อยู่ปัจจุบัน

3.กลุ่มคนพิการ ไม่เกิน 2,027,500 คน ซึ่งมีเบี้ยเงินพิการที่ได้รับอยู่แล้ว 800 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินเยียวยาสำหรับกลุ่มเปราะบางเพิ่มอีกในเดือนมิถุนายนจำนวน 2,000 บาท และเดือนกรกฎาคมเพิ่ม 1,000 บาท จากนั้นก็ได้รับเดือนละ 800 บาท/เดือน ตามเดิมกลุ่มคนพิการที่มี “บัตรประจำตัวคนพิการ” จะได้เงินอีก 1,000 บาท จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจะโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนไว้อัตโนมัติ