'พายุโซนร้อน' เอเชีย เพิ่มความเสี่ยงอุตฯการบิน

บรรดาสายการบิน สนามบินและบริษัทประกันทั่วเอเชียเตรียมรับมือความเสียหายอย่างมากในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่ฤดูกาลพายุโซนร้อนของภูมิภาคเริ่มต้นขึ้นแล้ว
ขณะที่เครื่องบินโดยสารหลายร้อยลำซึ่งต้องจอดอยู่ที่โรงจอด หรือภายในสนามบินเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวได้ง่ายนัก
สนามบินใหญ่ ๆ ที่ต้องเจอพายุตามฤดูกาล เช่น สนามบินฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย และอินเดีย ล้วนเป็นสนามบินที่ต้องปรับตัวไปเป็นลานจอดเครื่องบินจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นบิน เพราะมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางของทุกประเทศทั่วโลก
“ถ้าคุณมีเครื่องบินที่จอดอยู่กับที่เป็นเวลานาน ลองคิดดูว่าถ้าจะนำเครื่องบินเหล่านั้นกลับมาบินอีกครั้ง ภายในระยะเวลาสั้นๆไม่ใช่เรื่องง่าย และความท้าทายคือ คุณอาจจะเจอพายุไต้ฝุ่นหรือพายุเฮอริเคน และมีเครื่องบินโดยสารจำนวนมากที่ไม่สามารถออกบินได้ภายในเวลาที่ต้องการ” แกรี โมแรน ผู้บริหารบริษัทเอออน โบรกเกอร์ประกันการบินพลเรือนในเอเชีย ให้ความเห็น
บรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบิน กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทประกันสายการบินกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาเครื่องบินโดยสารจำนวนมากจอดรวมกันอยู่ตามสนามบินต่างๆ
“ในกรณีใดกรณีหนึ่ง อาจจะสร้างความเสียหายและทำให้ต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ในการซ่อมบำรุง ขึ้นอยู่กับสภาพของเครื่องบินโดยสารเครื่องนั้น ๆ” เจมส์ จอร์แดน เจ้าหน้าที่อาวุโสกำกับดูแลกรมธรรม์ประกันภัยและอากาศยานแห่งเอเชียของบริษัทกฏหมาย เอชเอฟดับเบิลยู (HFW) กล่าว
ขณะที่ แองเจลา กิทเทนส์ ผู้อำนวยการสภาการท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (เอซีไอ) ระบุว่า สภาพอากาศที่รุนแรงสุด ๆ เช่น พายุเฮอริเคน พายุไต้ฝุ่นและพายุไซโคลนเป็นพายุร้ายแรงตามฤดูกาลในหลายพื้นที่ของโลกและในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมการบิน ทำให้สนามบินหลายแห่งกลายเป็นที่จอดเครื่องบินโดยสารจำนวนมาก
เช่นสำนักงานการบินพลเรือนของฟิลิปปินส์ ระบุว่า ที่สนามบินนานาชาตินินอยอาคิโน ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์มีเครื่องบินโดยสารจำนวนมากจอดอยู่ภายในสนามบินและเครื่องบินที่จอดกินพื้นที่มาถึงรันเวย์
ส่วนสำนักงานควบคุมกฏระเบียบด้านการบินพลเรือนของไต้หวัน กล่าวว่า ได้แจ้งให้สนามบินต่างๆทั่วประเทศจัดการประชุมเพื่อเตรียมการรับมือพายุไต้ฝุ่นล่วงหน้า36 ชั่วโมงในปีนี้จากเดิมที่ 24 ชั่วโมง เพื่อให้บรรดาสายการบินมีเวลาเพียงพอที่จะร้องขอพื้นที่จอดเครื่องบิน และหากมีความจำเป็น สำนักงานควบคุมกฏระเบียบด้านการบินพลเรือนไต้หวันก็พร้อมจะเปิดพื้นที่สำหรับให้เครื่องบินแท็กซี่ ภายในสนามบินนานาชาติหลักในกรุงไทเปให้จอดเครื่องบินได้ โดยพื้นที่แห่งนี้รองรับเครื่องบินได้ 160 ลำ
อีวา แอร์เวย์ส คอร์ป บอกว่ามีแผนที่จะบริหารจัดการเครื่องบินโดยสารของตัวเองเช่นกัน ซึ่งรวมถึงให้เครื่องบินโดยสารไปจอดที่โรงจอดและส่งเครื่องบินบางรุ่นไปจอดที่สนามบินต่าง ๆ ในไต้หวันและต่างประเทศ ส่วนสายการบินไชน่า แอร์ไลน์ บอกว่า เตรียมแผนรับมือพายุไต้ฝุ่นไว้แล้วแต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียด
ขณะที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ตั้งของคาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ส และฮ่องกง แอร์ไลน์ ระบุว่า มีเครื่องบินที่จอดอยู่ภายในสนามบิน 150 ลำและได้เตรียมมาตรการป้องกันไว้ก่อนแล้วกรณีเกิดพายุใด ๆ ก็ตาม เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงมรสุมแล้ว
ส่วนสนามบินนานาชาติคันไซในนครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรันเวย์ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักเมื่อครั้งที่พายุไต้ฝุ่นเจบิพัดทลายกำแพงกั้นทะเลเมื่อปี 2561 บอกว่า ได้จัดการเพิ่มความสูงของกำแพงกั้นน้ำทะเลและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว
“สนามบินต่าง ๆ ต้องแน่ใจว่าติดตั้งอุปกรณ์พร้อมสรรพเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงว่าจะเกิดความเสียหายแก่เครื่องบิน หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากบริษัทประกันสายการบิน” โมแรน จากเอออน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิดใหม่ ๆ เครื่องบินของสายการบินในแต่ละประเทศจะจอดนิ่งสนิทล้นออกมาที่รันเวย์ เนื่องจากโรงจอดเต็มไม่เพียงพอ ขณะที่มีข่าวว่าสายการบินของหลายประเทศทั่วโลก ทยอยนำเครื่องบินโดยสารของตน ที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของไปจอดทิ้งไว้ กลางทะเลทรายที่ประเทศออสเตรเลีย
มาถึงวันนี้ สายการบินบางแห่งในบางประเทศเริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง แต่กฏเกณฑ์ใหม่ๆหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่บังคับให้ผู้คนต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน ก็ถูกนำมาเป็นข้อปฏิบัติใหม่ของการขึ้นเครื่องบินด้วย เช่น การใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นสิ่งบังคับสำหรับการเดินทางบนเครื่องบิน ผู้โดยสาร ลูกเรือและพนักงานทุกคน
รวมทั้งการบริการต่างๆบนเครื่องบินก็เปลี่ยนไป เช่น การเสริฟ์น้ำอาหารบนเครื่องอาจจะลดลง การแยกโซนรัปประทานอาหาร งดให้บริการหมอนหรือผ้าห่ม การให้บริการแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการบินของการบินหนึ่งเที่ยวมีต้นทุนสูงขึ้น และจะทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินแพงตามไปด้วย
แต่ในช่วงแรกที่ผู้โดยสารยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับไปใช้บริการสายการบินเท่าที่ควร อาจจะมีการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นความอยากเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้นก่อน แต่เมื่อกลับสู่ภาวะปกติ มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการขึ้นเครื่องบินมากขึ้นในอนาคต
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (IATA) บอกว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลกระทบกับรายได้ของสายการบินโดยตรง เนื่องจากสายการบินต้องลดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวเหลือเพียง 62% ของที่นั่งทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าจุดคุ้มทุนเฉลี่ยที่ต้องขายที่นั่งให้ได้อย่างน้อย 77% พร้อมเตือนว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินสูงขึ้น 43-54% เพื่อให้สายการบินมีรายได้คุ้มทุน
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'ทรัมป์' ร่วง รีพับลิกันล่ม ประชาธิปไตยรุ่ง
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
"Weekly Oil" report 18 January 2021
‘หลักธรรมาภิบาล’ ขององค์กรไม่แสวงหากำไร