จากมิติสุขภาพ สู่มิติสังคม ไม่รังเกียจ ตีตรา ผู้ป่วยโควิด-19

จากมิติสุขภาพ สู่มิติสังคม ไม่รังเกียจ ตีตรา ผู้ป่วยโควิด-19

คณะสังคมสงเคราะห์ฯ มธ. สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อน โครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และจัดการทางสังคม สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ลดการรังเกียจ ตีตรา

การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไม่ใช่เพียงผลกระทบด้านสุขภาพเท่านั้น ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของผู้ที่เคยป่วยและกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จากการถูกกีดกัน ตีตราทางสังคม และการเข้าไม่ถึงการเยียวยาของรัฐ ซึ่งในช่วงการระบาดพบว่าผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่อาจติดเชื้อ ต้องเผชิญกับปัญหาทัศนคติของคนรอบข้าง การไม่ยอมรับ การถูกเลือกปฏิบัติจากคนในชุมชน ทั้งยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจในกรณีที่ต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กในครอบครัวไม่มีคนดูแล

จากการติดตามการดูแลด้านสังคมผู้ป่วยโควิด-19 ของ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ พบว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือ ทางด้านจิตใจ สังคม สภาพความเป็นอยู่ ภายหลังจากการออกจากโรงพยาบาลซึ่งหมายถึงครอบครัว ชุมชน ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง ตามแนววิถีชีวิตใหม่ New Normal

โครงการ “พัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และจัดการทางสังคม สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19” หรือ (พสด) โดย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์ และรูปแบบ กลไก การให้คำปรึกษา ด้านสุขภาวะสำหรับโรคอุบัติใหม่ พร้อมเสริมพลังชุมชนให้มีการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่พฤษภาคม 2563 – เมษายน 2564

159119531247

เป้าหมายคือการติดตามผู้ป่วยที่กลับบ้าน จำนวน 1,600 ราย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย 50 หน่วยงาน ประชาชนในชุมชนนำร่อง 500 คน และพัฒนาสมรรถนะการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์และจิตอาสา จำนวน 200 คน 

ตามแนวทาง “ธรรมศาสตร์โมเดล” ติดตามประเมินผลสภาพปัญหาทางสังคมผู้ป่วยและผู้ที่เฝ้าระวังอาการหลัง 14 วัน ด้วยเครื่องมือการประเมินปัญหาทางสังคม ใช้เทคนิคการให้คำปรึกษา ผ่านวิดีโอคอล หรือ การสื่อสารทางไกลบน แพลตฟอร์ม CLICKNIC เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือ เข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ ได้รับการฟื้นฟูสุขภาพกาย จิตใจ พร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ สามารถปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ ถอดบทเรียนจัดคู่มือ รูปแบบ และแนวทางการดูแลทางสังคมผู้ป่วยหลังการฟื้นฟู

ถัดมา ได้แก่ รูปแบบการคุ้มครองเด็ก ครอบครัวเด็กป่วยโควิด-19 หรือสมาชิกในครอบครัว ที่ป่วยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยการพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์ ผ่าน 4 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรอบรมแบบออนไลน์และ e-learning โปรแกรม Hotline Counselling 2. การให้คำปรึกษาเสริมพลัง Empower Counselling 3. การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม Cognitive Behavior Therapy และ 4. โปรแกรม Mental Health and Psychosocial support เพื่อทำงานเชิงลึกกับเด็กและครอบครัว จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมถึงหลักสูตรสำหรับนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรด้านการช่วยเหลือสังคม

159119556967

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมชุมชนในการจัดการตัวเองเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ด้วยรูปแบบวัดเพื่อชุมชน ชุมชนจัดการตนเองเพื่อป้องกัน เฝ้าระวังโรคโควิด-19 เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ ในการจัดทำแผนเผชิญเหตุและรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดระดับชุมชน พัฒนารูปแบบ New Normal กับการจัดการทางสังคมในมิติสุขภาวะชุมชน นำไปสู่การถอดบทเรียน จัดทำคู่มือ แนวทางปฏิบัติ และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า มธ. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ประกาศตัวมีส่วนร่วมต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยการผันรูปแบบมาเป็นโรงพยาบาลสนาม และปิดตัวลงหลังจากส่งตัวผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 สรุปจำนวนผู้ป่วย 60 ราย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงต้องเตรียมความพร้อม โดยทีมงานสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยว่าไม่สามารถกลับเข้าสู่ครอบครัวหรือชุมชนได้ จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการติดตามดูแลผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและสังคม หรือประเมินส่งตัวต่อให้กับหน่วยงานภาคีที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป

159119547084

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า วิกฤตโควิด-19 แม้จะเริ่มต้นด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่กลับกระทบในหลายมิติ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านทั้งเรื่องของสุขภาพ กาย จิต สังคม ต้องทำงานคู่กันไปในหลายวิทยาการ สสส. เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสารตั้งแต่ในช่วงแรก ได้แก่ ไทยรู้สู่โควิด พบว่าการกลัวเกินเหตุ การตีตรา แม้กระทั่งคนที่อยู่ในวิชาชีพแพทย์ การตีตราสร้างปัญหาอยู่มาก การสื่อสารจึงต้องปรับทิศให้ทุกคนรับรู้ เข้าใจ เระบบเหล่านี้จะพัฒนาควบคู่กับสภาวการณ์โลกที่ผันแปร มิติทางสาธารณสุข สุขภาวะของสังคม ยังคงสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานกัน เราต้องช่วยกันเพิ่มพูนต้นทุนทางสังคมต่อไป

ขณะเดียวกัน จากสัญญานการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม จะมีการเปิดสถานศึกษา นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สิ่งที่หลายคนทราบดีว่ากลุ่มเด็กเล็ก มักจะไม่ค่อยแสดงอาการ ดังนั้น การติดเชื้อจะง่ายขึ้น และพอมีเด็กในชั้นเรียนป่วย 1-2 คน พ่อแม่ผู้ปกครองจะคิดอย่างไร นี่คือผลกระทบทางสังคมที่ทุกคนต้องคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

159119531350

“กรมควบคุมโรค ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตั้งแต่การคัดกรอง รักษา ส่งกลับคืนสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่รักษาหาย ซึ่งมีภูมิคุ้มกัน และผู้ที่กักตัวในสถานที่ของรัฐ (State Quarantine) เมื่อพ้นระยะฟักตัว หากประชาชนในสังคมมีการรังเกียจ เลือกปฏิบัติ อาจทำให้กลุ่มดังกล่าว เกิดความกดดัน และทำให้คิดฆ่าตัวตายได้” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้าย

  • เยียวยาสังคม รอดพ้นวิกฤติ

สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ในส่วนของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อนและดำเนินการ แบ่งเป็น 2 มาตรการหลัก คือ การเงิน และ สวัสดิการ "สราญภัทร อนุมัติราชกิจ" รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า สำหรับ “มาตรการด้านการเงิน” พม. มีการพักชำระหนี้ที่อยู่อาศัย ในโครงการบ้านมั่นคง โดยพักทั้งเงินต้น และไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน ถึงกันยายน 2563 ในส่วนของบ้านเอื้ออาทร มีการพักชำระค่าเช่าซื้อ เงินดาวน์ ลดค่าเช่า 50%

ส่วนลูกหนี้กองทุนคนพิการ ผู้สูงอายุ ที่กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ทำการพักชำระหนี้ 12 เดือน รวมถึง ให้เงินเยียวยาคนพิการ 1,000 บาท สำหรับผู้ที่มีบัตรคนพิการ 2 ล้านกว่าคน ขณะที่ กลุ่มเปราะบางกำลังดำเนินการในระยะต่อไป นอกจากนี้ ยังขยายเวลาตั๋วรับจำนำ 90 วัน ในสถานธนานุเคราะห์ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.125 ต่อเดือน

159119531274

ส่วน “มาตรการด้านสวัสดิการ” ได้แก่ กลุ่มคนไร้บ้าน คนตกงาน มีที่พักอาศัย อาหาร 3 มื้อ ทั้ง ในกทม. และต่างจังหวัด ขณะที่ กลุ่มเด็กเล็ก พม. ได้สนับสนุนนมผงให้แก่พ่อแม่ที่มีความจำเป็น พร้อมจัดเตรียมสถานรองรับเด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อ ให้พักอาศัยอย่างปลอดภัย รวมถึง ทำงานร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชน เปิดมาร์เก็ตเพลส สำหรับจำนวนสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ค

ขณะที่ กลุ่มสตรี โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ประสบปัญหาตกงาน ไม่มีรายได้ พม.เปิดที่พัก ฝึกวิชาชีพ ระยะสั้น กลุ่มคนพิการ นอกจากการเงินเยียวยาแล้ว ยังส่งเสริมทักษะอาชีพ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมสำรวจข้อมูลคนพิการที่ตกสำรวจ และได้รับผลกระทบ โดยใช้อาสาสมัครพม. ในการดำเนินการ

กลุ่มผู้สูงอายุ จัดทำคู่มือป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับสถานสงเคราะห์คนชราทุกแห่ง และในรูปแบบออนไลน์ สามารถดาวน์โหลดได้ พร้อมเพิ่มมาตรการเข้มข้น ทั้งคนในและคนนอก ในส่วนของ กลุ่มคนทั่วไป สามารถโทรสอบถาม แจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วน 1300 โดยปัจจุบัน มีการขยายจาก 15 คู่สาย เป็น 60 คู่สาย จากเดิมมีคนโทรเข้ามาราว 500 สายต่อวัน ขณะนี้เพิ่มขึ้นถึง 4,000 สายต่อวัน

159119531567

นอกจากนี้ ในส่วนของชุมชน โดยเฉพาะในเขตกทม. ซึ่งมีอยู่ราว 2,000 แห่งที่จดทะเบียนถูกต้อง และจำนวน 286 ชุมชน เป็นความรับผิดชอบของพม. นอกจากนี้ ยังมีอีกกว่า 1,000 ชุมชนไม่มีใครดูแล ระยะแรก พม. ได้ทำการสำรวจความเดือดร้อน 286 ชุมชนในความรับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว และจะขยายไปในส่วนที่เหลือ โดยเฉพาะชุมชนที่ไม่มีใครดูแลซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง