ส่องประวัติ '3 รองผู้ว่าธปท.' คุณสมบัติเด่น 'ไม่แพ้' คนนอก

ส่องประวัติ '3 รองผู้ว่าธปท.' คุณสมบัติเด่น 'ไม่แพ้' คนนอก

การตัดสินใจ “ไม่ลงสมัคร” คัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ผู้ว่าธปท.” ใน “วาระสอง” ของ “วิรไท สันติประภพ” ด้วยเหตุผลต้องการให้เวลากับครอบครัว

เท่ากับเป็นการ “เปิดทาง” ให้กับ “คนธปท." ในระดับ  "รองผู้ว่าการ” ได้มีโอกาส “ลงชิงชัย” ในตำแหน่งดังกล่าว

ปัจจุบัน “รองผู้ว่าการธปท.” มีทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน” รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร , “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน และ “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน 

...หากส่องดูคุณสมบัติของ “รองผู้ว่าการธปท.” ทั้ง 3 คนแล้ว นับว่า “ครบเครื่อง” ทุกคน

เริ่มจาก “ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน" แม้ปัจจุบันจะรับบทบาทเป็น “รองผู้ว่าการ” ดูแลงานด้าน “บริหาร” ซึ่งจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องภายในองค์กรธปท. แต่เวลาเดียวกัน เขายังมีตำแหน่งเป็น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) หรือเป็นหนึ่งใน “ผู้กุม” ชะตาอนาคต “นโยบายการเงิน” ของไทยด้วย

ไพบูลย์ ถือเป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงของ ธปท. มาแต่ไหนแต่ไร เขาเป็นคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการความเป็น “ธนาคารกลาง” อย่างเหนียวแน่น 

การที่ “เสถียรภาพระบบการเงิน” ของไทย “เข้มแข็ง” จนทุกวันนี้ แม้แต่นักลงทุนต่างชาติยังยกให้ “ไทย” เป็น “เซฟเฮฟเว่น” หรือ แหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัยสูงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับ “ไพบูลย์” ที่เฝ้าระวังและเสริมสร้างเสถียรภาพการเงินของไทยจนแข็งแกร่งได้ถึงทุกวันนี้

ตลอดการทำงานกว่า 30 ปีใน ธปท. แม้ “ไพบูลย์” จะเติบโตมากับ “สายนโยบายการเงิน” แต่ในอดีต ก็เคยเรียนรู้งานในสายอื่นๆ มากมาย เช่น สายตลาดการเงิน ตลาดเงินตราต่างประเทศ บริหารเงินสำรอง นโยบายกำกับสถาบันการเงิน ล่าสุดดูแลงานทุกอย่างภายในองค์กรธปท. ซึ่งรวมถึงสายงานด้านบุคคลผ่านตำแหน่ง รองผู้ว่าการด้านบริหาร เท่ากับว่า ไพบูลย์ ผ่านงานใน ธปท. มาแล้วทุกสาย เข้าใจทุกตำแหน่งงานเป็นอย่างดี ชนิดที่ไม่อาจหาใครเทียบเคียงได้

“ไพบูลย์” จึงนับเป็นรองผู้ว่าการธปท.ที่ “ครบเครื่อง” สุดคนหนึ่ง

อดีตแม้ “ไพบูลย์” จะถูกมองเป็นหนึ่งในขุนพลผู้ “พ่ายศึก” ของ ธปท. ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่นั่นเป็นเพราะคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้เขาต้องสู้ศึกทั้งที่เครื่องไม้เครื่องมือ “ไม่พร้อม” 

แต่ศึกครั้งนั้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ที่ “ไพบูลย์” นำมาใช้เป็นบทเรียน จนสร้าง "ความเข้มแข็ง” ให้กับ “เสถียรภาพระบบการเงิน” ของไทยจนถึงทุกวันนี้

159118533313

ถัดมา คือ “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน นับเป็นหนึ่งขุนพลที่เคียงบ่าเคียงไหล่ “ไพบูลย์” มาโดยตลอด 

เมธี เป็นรุ่นน้องจากรั้ว “สวนกุหลาบ” ก่อนจะตามเข้าสู่รั้ว “บางขุนพรหม”  โดยเขาเริ่มทำงานในฝ่ายวิชาการ รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับ “นโยบายการเงิน” โดยตรงมากว่า 30 ปี มีแค่บางช่วงที่ย้ายไปทำงานในหน่วยดุลการชำระเงิน ...ดังนั้นงานด้านนโยบายการเงิน “เมธี” จึงเรียกได้ว่าไม่เป็นสองรองใครในประเทศนี้

นอกจากนี้ เขายังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการบริหารความเสี่ยงด้านปฎิบัติการให้กับ ธปท. ในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง จึงถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลใน ธปท. ที่ช่วยสร้างเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้มีความแข็งแกร่งจนทุกวันนี้ 

ขณะเดียวกัน เขายังมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ด้วยความเป็น “รุ่นน้อง” คนสนิทของ “ไพบูลย์” เขาจึงยึดมั่นใน “หลักการ” ของความเป็น “ธนาคารกลาง” อย่างเคร่งครัดไม่ต่างจากรุ่นพี่ อะไรที่ผิดหลักการถือเป็นเรื่องที่ทั้งสองคนนี้ “ไม่ยอมรับ” ทั้งสองคนจึงมีส่วนช่วยให้ ธปท. เป็น “เสาหลัก” ทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด

เมธี เคยลั่นวาจาไว้ว่า ธปท. จะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์และปฎิบัติหน้าที่ตามหลักการของธนาคารกลางอย่างเคร่งครัด ดังเช่นที่ถือปฎิบัติมาโดยตลอด และต้องไม่ลืมว่า สินทรัพย์ที่สำคัญของ ธปท. ไม่ใช่สินทรัพย์ต่างประเทศ ไม่ใช่ทองคำ ที่สะสมสำรองไว้ แต่คือความน่าเชื่อถือที่สั่งสมกันมานาน และจะต้องดำรงไว้ต่อไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาวเป็นหลัก

คนสุดท้าย คือ “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน แม้เขาจะเรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เติบโตในสายงานกำกับสถาบันการเงิน จึงเข้าใจกลไกสถาบันการเงินเป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ตาม แม้ “รณดล” จะเติบโตมากับสายงานนี้ แต่ก็มีความรู้ความเข้าใจในสายงาน “ด้านการเงิน” ไม่น้อย เพราะเขาเริ่มงานกับ ธปท. ในหน่วยงานวิเคราะห์ฝ่ายการธนาคาร ทำงานวิเคราะห์ตลาดเงินและความเคลื่อนไหวของตลาด

นอกจากนี้ “รณดล” ยังมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนธนาคารที่นครนิวยอร์กด้วย หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ย้ายไปดูแลด้านบริหารเงินสำรอง จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ได้รับมอบหมายให้มาทำงานด้านการกำกับสถาบันการเงิน และเป็นสายงานหลักที่ดูแลมาจนถึงทุกวันนี้

รณดล ย้ำว่า งานด้านกำกับสถาบันการเงินถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้สายงานอื่นๆ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง เช่น ช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง ก็ต้องทำให้เกิดความแน่ใจว่าสถาบันการเงินสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยการส่งผ่านเงินฝากของประชาชนไปให้กับผู้ต้องการสินเชื่อ

เขาบอกด้วยว่า บางครั้งสถาบันการเงินอาจมองข้ามลูกหนี้ที่มีศักยภาพไป ตรงนี้ถือเป็น “หน้าที่” ของ “ธปท.” ที่จะดูแลสถาบันการเงินช่วยปล่อยสภาพคล่องให้กับลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้

แต่ช่วงไหนที่เศรษฐกิจร้อนแรง สถาบันการเงินผ่อนคลายการให้สินเชื่อมากเกินไป ก็ต้องคอยดูให้การปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า สินเชื่อที่สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยออกไปเป็นไปตามมาตรฐานและมีความถูกต้อง

แน่นอนว่า ด้วยความที่ “รณดล” เป็น “คนธปท.” มาร่วมๆ 30 ปี “หลักธรรมาภิบาล” จึงเป็นที่ยึดมั่นใจการทำงาน โดยเขาย้ำอยู่เสมอว่า  ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต ธปท. ยังคงเป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักของประเทศในแง่ของการเป็นธนาคารกลาง เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือและศรัทธาจากประชาชนและ Stakeholders ทุกราย

โดยสรุปแล้ว ด้วยคุณสมบัติของ “รองผู้ว่าการ” ทั้ง 3 คน นับว่า “สอบผ่าน” การเป็น “ผู้ว่าการธปท.” ได้ทุกคน แม้ล่าสุดจะมีกระแสข่าวว่า “ไพบูลย์” อาจไม่ลงสมัครรับการคัดเลือกในครั้งนี้ ..แต่ในเมื่อยังไม่ปิดการรับสมัคร อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น “คนนอก” หากคิดจะลงชิงชัย คงต้องทำการบ้านมาอย่างดี