เทเลฟาร์มาซี - คลินิกเภสัชกร เส้นทางพัฒนาร้านยาสู่ยุค New Normal

เทเลฟาร์มาซี - คลินิกเภสัชกร เส้นทางพัฒนาร้านยาสู่ยุค New Normal

จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาเป็นตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นเทเลเมดิซีน หรือ การเดินหน้าพัฒนาระบบ เทเลฟาร์มาซี หลังจาก สปสช. ได้มีโครงการรับยาใกล้บ้านมาแล้วก่อนหน้านี้

ในอนาคตร้านยาต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดร้าน ไม่ใช่เพียงสถานที่ขายยา แต่เป็นสถานปฏิบัติการทางวิชาชีพของเภสัชกร เป็นคลินิกเภสัชกรสามารถให้คำปรึกษา แนะนำ ป้องกันโรค มีข้อบังคับ จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ มีข้อกำหนดเงื่อนไขเป็นสถานที่ให้คำแนะนำเรื่องยาที่ถูกต้อง และเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ใกล้ที่สุด

การพัฒนาระบบสุขภาพของไทยในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการรับยาใกล้บ้าน ซึ่งเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลกับร้านยาชุมชนเพื่อลดความแออัด ขณะเดียวกัน โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ดียิ่งขึ้น เทเลเมดิซีน ถูกนำมาใช้ เกิดการพัฒนา “เทเลฟาร์มาซี” ซึ่งอยู่ระหว่างออกกฏข้อบังคับให้เกิดมาตรฐาน ตอบรับ New Normal ของร้านยา

“โครงการรับยาใกล้บ้าน” จุดเริ่มต้นจากงานนวัตกรรมกึ่งวิจัย เพื่อเพิ่มความสะดวก เพิ่มการใช้ยาให้เหมาะสม ลดปัญหาเรื่องยาเหลือใช้ และลดความแออัดในโรงพยาบาล พบว่า ได้ผลลัพธ์ดี ผู้ที่ได้รับบริการมีอัตราการใช้ยาสมเหตุสมผลดีขึ้น มากกว่าระบบรับยาที่โรงพยาบาล และสามารถลดจำนวนยาเหลือใช้ที่บ้านได้ 

159101857047

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงขยายผล สู่นโยบายในการลดความแออัดในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วม 108 แห่ง ร้านยาแผนปัจจุบัน 889 แห่งใน 55 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563) เป็นระบบสมัครใจ ไม่บังคับผู้ป่วย ผู้ใช้บริการอยู่ใน 4 เงื่อนไข คือ (1) ต้องมีสิทธิบัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยสมัครใจยินดีไปรับยาที่ร้านยา

โดยร้านยาที่อยู่ในโครงการรับยาใกล้บ้าน มี 2 กลุ่ม คือ ร้านยาคุณภาพ ที่มีโลโก้ของสภาเภสัชกรรมรับรอง ต้องมีเภสัชกร ประจำตลอดเวลาทำการตั้งแต่เปิดร้านจนปิด และอีกกลุ่ม คือ กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาต คือ มีเภสัชกร ประจำอยู่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง และต้องระบุเวลาทำงานของเภสัชกรให้ชัดเจน

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายกสภาเภสัชกรรม ระบุว่า จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่พึงพอใจ สามารถลดเวลารอรับบริการที่โรงพยาบาลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยสามารถรับบริการต่อที่ร้านยาในเวลาที่ตนเองสะดวกและไม่ไกลจากบ้าน และเห็นว่าโครงการลักษณะนี้อำนวยความสะดวก ถัดมา คือ ลดความแออัด ใน โรงพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง และ ผู้ป่วยมีเวลาพูดคุยกับเภสัชกรมากขึ้น

159101857145

ปัญหาความแออัดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล 80% เกิดจากผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ปัจจุบันจึงมีระบบเทเลเมดิซีน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ระบบบริการสาธารณสุขของไทยดีขึ้นไปอีกขั้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ อาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลอาจจะใช้เทเลเมดิซีนเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น โดยการติดต่อไปที่โรงพยาบาลให้แพทย์คัดกรองเบื้องต้นว่าสามารถใช้การตรวจผ่านเทเลเมดิซีนได้

มีการคาดการณ์ว่า New Normal ของร้านยา จะมีการเติบโตของ “เทเลฟาร์มาซี” มากขึ้น ถือเป็นการให้บริการด้านยาที่ ผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ มีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนรับบริการที่ร้านยา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ขณะนี้สภาเภสัชกรรมอยู่ในระหว่างการดำเนินการออกกฎกติกาที่เป็นมาตรฐาน และมีคุณภาพในการให้บริการ ให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และได้รับผลค้างเคียงจากยาน้อยลง ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เป้าหมายของสภาเภสัชกรรมในปี 2564 ร้านยา 100% ต้องมีเภสัชกรประจำร้านตลอดเวลาที่เปิด

159101857027

ดังนั้น ทิศทางที่จะพัฒนาต่อไป นอกจากร้านยาทุกร้าน ต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดร้านแล้ว ร้านยาต้องไม่ใช่เพียงสถานที่ขายยา แต่เป็นสถานปฏิบัติการทางวิชาชีพของเภสัชกร เหมือนคลินิกหมอ แต่นี่คือคลินิกเภสัชกร ดังนั้น ต้องสามารถให้คำปรึกษา แนะนำ ป้องกันโรค มีข้อบังคับ จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ มีข้อกำหนดเงื่อนไข จะช่วยให้ร้านยา เป็นสถานที่ให้คำแนะนำเรื่องยาที่ถูกต้อง และเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ใกล้ที่สุด และทั้งหมดนี้อยู่ในเกณฑ์ของการคัดเลือกร้านยาในโครงการร้านยาใกล้บ้านด้วย