สสน.ผนึกกองทัพฯ 'สร้างอาชีพ-จัดการน้ำชุมชน'

สสน.ผนึกกองทัพฯ 'สร้างอาชีพ-จัดการน้ำชุมชน'

สสน.ร่วมขับเคลื่อนโครงการบัณฑิตอาสา ผนึกกองทัพภาคที่ 2 จัดทำ “แผนงานสร้างอาชีพฯ” ดึงชุมชนแกนนำด้านบริหารจัดการน้ำและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมเป็นพี่เลี้ยง มุ่งทำงานร่วมกับชุมชนวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ ตอบโจทย์วิกฤติแล้ง

"แม้ฉากทัศน์หลังโควิด-19 โลกจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่เราจะต้องอยู่อย่างปกติสุข โดยจะต้องเริ่มจากความมั่นคงด้านทางนํ้า ทางอาหารและทางพลังงาน และหนึ่งในปฐมบทที่สำคัญนั้นคือ “น้ำ” ที่ต้องใช้ความมั่นคงของมนุษย์เป็นตัวตั้ง ทำให้เกิดสร้างงานขึ้นในชุมชน จึงจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันทุกภาคส่วน” 

ขยายผลชุมชนจัดการน้ำ

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างการประชุมหารือและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมกับ พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ท ธวัชชัย ชวนสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งกองทัพไทย  โดยเป็นการหารือเพื่อจัดทำ “แผนงานสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาจัดการทรัพยากรท้องถิ่น” โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ

159067098218

สสน.และกองทัพภาคที่ 2 ได้ร่วมดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคอีสานมาตั้งแต่ปี 2561 เกิดความสำเร็จใน 60 ชุมชนแกนนำ และขยายผลไปสู่ 1,659 หมู่บ้านทั่วประเทศแล้ว เป็นการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ มุ่งสร้างทักษะและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนำไปสู่การจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพ “ศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งเป็นพื้นที่เผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก บางพื้นที่ไม่มีน้ำเพื่อการเกษตร หากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ พื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

159067102338

“ทั้งสองหน่วยงานได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2561 จึงขยายผลให้เป็นศูนย์เชื่อมประสานข้อมูลการทำงานกับหน่วยงาน ภายใต้ อว. และยกระดับให้เป็นศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับภาคและระดับท้องถิ่น ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างทหาร บัณฑิตอาสา และองค์ความรู้ของหน่วยงานภายใต้ อว. ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแรงและทันสมัยต่อไป” สุวิทย์ กล่าว

159067111914

ด้าน พล.ท.ธัญญา กล่าวว่าการได้รับองค์ความรู้จาก สสน. ในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ทำให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการเพื่อมีน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเหมาะสม โดยบทเรียนที่ผ่านมาเราเกิดการท่วมและแล้งซ้ำซาก ดังนั้น โครงการนี้จึงใช้จิตอาสาที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมไปช่วยถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านในเรื่องของเทคโนโลยีจนนำไปสู่การตลาดยุคใหม่ที่จะนำความยั่งยืนสู่พื้นที่

จ้างบัณฑิตอาสาทำแผนที่น้ำ

สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสน. กล่าวว่า โครงการแผนงานสร้างอาชีพฯ ที่ทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 จะจ้างงานบัณฑิตอาสาเป็นระยะเวลา 1ปี ที่จะเป็นตัวเชื่อมกับชุมชนจากฟังก์ชั่นเบสสู่แอเรียเบส ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เป้าหมายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มความมั่นคงของน้ำ สำหรับทำการเกษตร เพิ่มผลผลิตและรายได้ ต่อยอดสู่อาชีพให้กับผู้ว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ รวมทั้งยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

159067114985

การดำเนินงานจะเน้นการพัฒนาพื้นที่และการจัดการน้ำชุมชน โดยสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชนและจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นวิทยากร เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำ และการวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนวิเคราะห์และสรุปแผนดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำร่วมกัน โดยมีชุมชนแกนนำของ สสน. และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่จะทำให้รายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น

การใช้น้ำของประเทศไทยต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยภาคการเกษตรใช้มากที่สุดทั้งทางตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร หลายปีที่ผ่านมา เรามักจะใช้น้ำสูงกว่าแผน 20 ปีข้างหน้าที่วางไว้ คาดว่าความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 25% จึงต้องมีการบริหารจัดการ จัดสรร และจัดการน้ำเสียที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การใช้น้ำหมุนเวียนก็ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มต้นทุนน้ำ มีน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร อีกทั้งสามารถวางแผนเพาะปลูก บริหารการผลิต และรายได้ บริหารความเสี่ยงมีภูมิคุ้มกัน เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้งได้อีกทางหนึ่ง” สุทัศน์ กล่าว

159067116755