'โควิด'ตัวเร่งการเจรจาอาร์เซ็ปรุดหน้าเร็ว

'โควิด'ตัวเร่งการเจรจาอาร์เซ็ปรุดหน้าเร็ว

หัวหน้าเจรจา “อาร์เซ็ป” ฝ่ายไทย เผย โควิด-19 ทำการเจรจารุดหน้าเร็ว เหตุเจ้าหน้าที่ประชุมทางไกลได้ทุกสัปดาห์ จากเดิมหลายฝ่ายคาดอาจเป็นอุปสรรค จนอาจลงนามความตกลงไม่ทันสิ้นปีนี้ ย้ำลงนามได้แน่สิ้นปีนี้ แม้อินเดีย ยังไม่แจ้งจะกลับมาเจรจาต่อหรือไม่

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป หรือ RCEP) ระหว่างอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นอุปสรรคทำให้การประชุมระดับต่างๆ ของสมาชิกล่าช้า จนอาจทำให้การลงนามความตกลงร่วมกันของสมาชิกภายในสิ้นปีนี้ต้องเลื่อนออกไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่กลับทำให้การประชุมมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว

“ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สมาชิกประชุมผ่านระบบทางไกลในประเด็นคงค้างได้เกือบทุกสัปดาห์ ทำให้การเจรจาคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมที่ต้องเดินทางไปประชุมในประเทศสมาชิก ซึ่งเจ้าภาพต้องเตรียมสถานที่ และพิธีการต่างๆ ทำให้การประชุมต้องเว้นระยะเวลาห่างกัน2-3เดือนต่อครั้ง แต่โควิด-19 ทำให้เกิดNew Normalการประชุมระดับเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางได้มาก”

สำหรับการประชุมระดับคณะกรรมการครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 15-20 พ.ค.63 ผ่านระบบการประชุมทางไกลนั้น ที่ประชุมตกลงได้เกือบครบทุกประเด็นที่คั่งค้าง เหลืออีกเพียง2-3ประเด็น ทำให้ คาดว่า การเจรจาจะไปสู่การลงนามความตกลงได้ตามเป้าหมายในช่วงการประชุมระดับผู้นำอาร์เซ็ปในสิ้นปีนี้แน่นอน ซึ่งอาร์เซ็ป จะเอื้อต่อการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ อินเดียยังไม่ได้แจ้งตอบต่อข้อเสนอของ 15 ประเทศสมาชิก ที่ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.63 เพื่อตอบสนองตามที่อินเดียเรียกร้อง และให้อินเดียกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง ดังนั้น สมาชิกจึงได้เดินหน้าหารือแนวทางดำเนินการเพื่อลงนามความตกลงในปีนี้ และวางแนวทางสำรอง หากอินเดียยังมีความกังวลและเลือกจะเข้าร่วมความตกลงในอนาคต โดยคณะกรรมการฯ จะประชุมสมัยพิเศษในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมประเด็นที่จะยกขึ้นให้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปตัดสินใจในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่คาดว่าจะจัดในช่วงเดือนมิ.ย.นี้เช่นกัน

สำหรับการดำเนินการต่อจากนี้ สมาชิกจะเร่งรัดการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายทั้ง20บทของความตกลงให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้ จากขณะนี้เสร็จแล้ว11บท หลังจากนั้นแต่ละประเทศจะดำเนินกระบวนการภายในประเทศสำหรับการลงนามความตกลง ขณะที่ไทย โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเดินสายเผยแพร่เนื้อหาสาระของความตกลงให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า และการลงทุนได้