เกมกั๊ก-หักเหลี่ยม '3 ก๊ก' เมืองหลวงฉบับ พปชร.

เกมกั๊ก-หักเหลี่ยม '3 ก๊ก' เมืองหลวงฉบับ พปชร.

ศึก "ชิง-แย่ง-ยึด" พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สู้กันยังไม่จบ แต่พอรู้ทิศทางแล้ว

ว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพปชร. มีโอกาสนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เสียบแทน อุตตม สาวนายน รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพปชร.สูงปรี๊ด

เมื่อหัวขบวนภายในพรรค พปชร. ถึงเวลาสลับสับเปลี่ยน บรรดาหางเครื่องก็ต้องหาสังกัด เพื่อเพิ่มจำนวนเสียงให้ “แกนนำกลุ่ม” ใช้ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ที่จะมีการปรับ ครม.หลังเสร็จศึก “ยึดพรรค”

“กลุ่ม ส.ส.กทม.” ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะตอนนี้มีโควตา “2 เก้าอี้ รมว.” อยู่ที่ “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส.ส.บัญชีรายชื่อ

นับเสียง กลุ่มส.ส.กทม.มีทั้งหมด 15 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 เสียง ส.ส.เขต 12 เสียง แต่ใน กลุ่มส.ส.กทม.ไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด แต่แบ่งย่อยออกเป็น 3 ก๊ก 

ว่ากันว่า “2 ผู้นำกลุ่ม” ผู้ดูแลท่อน้ำเลี้ยง ไม่ยอมเคลียร์บิล ไม่รู้ว่างบโครงการหล่นไปตรงไหน จน “ส.ส.กทม.” ต้องโบกมือลา แยกไปรวมก๊กใหม่

 

ก๊กหนึ่ง ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” จากที่เคยเป็นก๊กใหญ่ แต่ระยะห่างทางสังคม ทำให้ “ส.ส.กทม.” ไม่พอใจหัวขบวน เหตุผลหลักอยู่ที่ท่อน้ำเลี้ยงเริ่มตัน หลายโครงการที่มีรายการ “คุณขอมา” มักจะมีรายการ “ผมเอาไว้” โดยไม่แจ้งที่มาที่ไป

จึงมีแวว ก๊กแตก” ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง เพราะ “บิ๊กมันนี่” ถูกเก็บ-กั๊กเอาไว้ แต่ “2 ผู้นำกลุ่ม” อ้างกับ “บิ๊กเนม” ว่าใช้วิธียิงตรงลงพื้นที่ ไม่ผ่านมือ “ผู้สมัคร” เพราะไม่ไว้ใจใคร แต่จำนวน ส.ส.กทม. 12 เสียง ที่พรรค พปชร.ได้มา ทำให้ทฤษฎียิงตรงลงพื้นที่ของ “2 ผู้นำกลุ่ม” ได้รับการยอมรับ จึงรอดตัวไปเปลาะหนึ่ง

ทว่าหลังเปิดสภา-จัดโควตารัฐมนตรี “2 ผู้นำกลุ่ม” สมหวังนั่งเก้าอี้เสนาบดี ความสัมพันธ์เริ่มระหองระแหง มีเพียงงานจัดเลี้ยงสังสรรค์ จัดทริปพา “ส.ส.กทม.” บินลัดฟ้าไปพักผ่อนในแดนปลาดิบ ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 “ส.ส.กทม.” หลายคนต้องควักเนื้อช่วยเหลือชาวบ้านเพียงลำพัง ทั้งที่มี “งบกลาง” จากพรรค แต่โดน “มือมืด” เก็บเข้ากระเป๋า

ทำให้ความสัมพันธ์ขาดสะบั้น “ส.ส.กทม.” ทิ้งรังเก่าหันไปซบรังใหม่ ส่งผลให้ “ก๊กที่มี ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” เหลือ ส.ส.กทม. ที่อยู่ร่วมก๊กเพียง 3 เสียง ประกอบด้วย กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. เขต 1 (พระนคร ป้อมปราบ สัมพันธวงศ์ ดุสิต) ภรรยาของ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. แต่ตัวของ “ชัยวุฒิ” เริ่มปันใจออกห่าง “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” ย้ายเข้าสังกัด “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมี “ชาญวิทย์ วิภูศิริ” ส.ส.กทม. เขต 15 (มีนบุรี-คันนายาว) “จักรพันธ์ พรนิมิตร” เมื่อนับรวมแล้ว “ส.ส.กทม.” ก๊กของ ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์เหลือเพียง 5 เสียง

ก๊กสอง ย้ายข้างมาสังกัด สามมิตร” โดยมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ดูแลอย่างดี ประกอบด้วย กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. เขต 4 (คลองเตย-วัฒนา) ที่ล่าสุดควงแขน “สุริยะ” ลงพื้นที่คลองเคย แจกหน้ากากผ้า-ถุงยังชีพ ให้ฐานเสียงชาวคลองเตย ตอกย้ำสัมประชาชน และ ศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. เขต 17 (หนองจอก)

ขณะที่ สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. เขต 9 (หลักสี่-จตุจักร) หลังเสร็จศึกเลือกตั้ง “สิระ” ประกาศตัวไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับ “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” พร้อมเดินสายออกงานร่วมกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร เหตุผลที่ “สิระ” มักอ้างในทางลับคือ โดนตัดท่อน้ำเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม “สิระ” ไม่ได้เทใจให้ “สามมิตร” หมดทั้งดวง เพราะบางจังหวะเดินเดี่ยวท้าชน บางคน-บางกลุ่ม ต่อยอดให้ผลิดอกออกผล จนถูกจับจ้องในฐานะ “ตัวป่วน”

ก๊กสาม กลุ่มฟรีแลนซ์ ประกอบด้วย พัชรินทร์ ซาศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 (ปทุมวัน-บางรัก-สาธร) ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เขต 6 (พญาไท-ราชเทวี-จตุจักร) ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. เขต 7 (บางซื่อ-ดุสิต) กษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. เขต 8 (ลาดพร้าว-วังทองหลาง) ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. เขต 13 (บางกะปิ-วังทองหลาง) ประสิทธิ์ มะหะหมัดส.ส.กทม. เขต 19 (สะพานสูง-ประเวศ)

กลุ่มฟรีแลนซ์ แยกตัวมาจากก๊กของ ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์ เช่นกัน ด้วยเหตุท่อน้ำเลี้ยงเริ่มตัน สู้แยกตัวมาเป็นอิสระ ช่วยทุกก๊วน-รักทุกกลุ่ม “แกนนำ” กลุ่มใดมีปัญหาเสียงขาด พร้อมให้เรียกใช้บริการได้

เมื่อความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพปชร.กำลังจะเกิดขึ้น จำนวนเสียงของ “ส.ส.” ในแต่ละ ก๊ก-ก๊วน-กลุ่ม จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นตัวชี้วัดเก้าอี้รัฐมนตรี หาก 15 เสียงของ ส.ส.กทม. แยกตัว-แยกก๊ก มีโอกาสที่เก้าอี้รัฐมนตรี จะถูกลดทอนลง

งานหนักจึงตกอยู่กับ “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” จะกล่อมให้ “ส.ส.กทม.” กลับมารวมเสียงกันได้หรือไม่ โดยเฉพาะ “กลุ่มฟรีแลนซ์” ที่มีอยู่ 6 เสียง เพราะแรงต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ในสัดส่วนของพรรค พปชร. จะรุนแรงมากกว่าเดิมแบบทวีคูณ