ร้านค้าลงทะเบียนใช้ 'ไทยชนะ.com' วันแรก 11,599 ร้าน

ร้านค้าลงทะเบียนใช้ 'ไทยชนะ.com' วันแรก 11,599 ร้าน

สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 3 ราย รวมยอดสะสม 3,028 ราย ใน 68  จังหวัด เผยปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรกหลังผ่อนคลายมาตรการ 2 สัปดาห์ ระบุแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ.com”เปิดให้บริการวันแรก มีร้านค้าลงทะเบียน 11,599 ร้าน

ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม  3 ราย ยอดสะสม3,028  ราย

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม  3 ราย รวมยอดสะสม 3,028   ราย ใน 68 จังหวัด รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม   1ราย รวม 2,856  ราย หรือ 96.22 % เสียชีวิต 56 ราย และผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 116   ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยยืนยัน จำแนกตามพื้นที่รักษา แบ่งเป็น กรุงเทพฯ นนทบุรี  1,703 ราย ภาคเหนือ  95  ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ111  ราย ภาคกลาง 393  ราย และภาคใต้  726 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 17 พฤษภาคม จำนวน  3   ราย ได้แก่ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine เป็นคนไทยมาจากปากีสถาน 1 ราน เป็นนักศึกษาเพศชาย อายุ 23 ปี กลับมาวันที่ 7 พฤษภาคม และเป็นคนไทยมาจากอียิปต์ 2 ราย เป็นนักศึกษาเพศชาย อายุ 21 และอายุ 23 ปี กลับมา 8 พฤษภาคม ทั้งนี้ บุคคลเหล่านี้ได้มีการตรวจสารคัดหลั่งจากประเทศต้นทางมาเรียบร้อยแล้ว ปลอดภัยไม่มีการติดเชื้อ แต่เมื่อมาตรวจในประเทศไทย กลับพบว่ามีการติดเชื้อ ดังนั้น สะท้อนให้เห็นถึงระยะเวลาการฟักตัวของโรคนี้

ปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรกช่วงผ่อนคลายมาตรการ

โฆษก ศบค. กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการจำแนกตามปัจจัยเสี่ยงของจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม ใน 5 อันดับแรก จะพบว่า ปัจจัยเสี่ยงเกิดจาก 1. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 1,183 ราย 2.อาชีพเสี่ยง เช่นทำงานในสถานที่แออัด 284 ราย 3.สนามมวย 276 ราย 4.คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 270 ราย และ 5 สถานบันเทิง 226 ราย แต่เมื่อพิจารณาในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุด และเป็นช่วงผ่อนคลายมาตรการ  กลับพบว่า ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 มาจาก ศูนย์กักกันตัว ผู้ต้องกัก 23 ราย

2.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน 18 ราย 3.สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า 16 ราย  4.ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันของรัฐ 10 ราย และไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จำนวนผู้สถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 4,720,196ราย อาการหนัก 44,827 ราย รักษาหาย 1,811,080ราย เสียชีวิต 311,220 ราย โดย 10 อันดับที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ถัดมา ได้แก่ สเปน  รัสเซีย  สหราชอาณาจักร บราซิล อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ตุรกี และอิหร่าน ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่  70   

ส่วน10 ประเทศอันดับแรก ตามจำนวนผู้ป่วยสะสมในกลุ่มประเทศอาเซีย และเอเชีย พบว่า อินเดีย มีผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ จีน ปากีสถาน สิงคโปร์ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย  จะเห็นได้ว่าไทยไม่อยู่ใน 10 อันดับนี้แล้ว 

พบเด็กเสียชีวิตภูมิต้านทานผิดปกติเชื่อมโยงกับโควิด-19

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ พบว่า จำนวนเด็กป่วยด้วยอาการผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทานที่มีความเชื่อมโยงกับโรคโควิด-19 ของเด็กในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวว่า ยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีจำนวนเด็กที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทานที่มีความเชื่อมโยงกับโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งมีรายงานเด็กอย่างน้อย 5 คน เสียชีวิตจากอาการดังกล่าว และ 3 คนอยู่ในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา และอยู่ในฝรั่งเศส และอังกฤษประเทศละ 1 คน ส่วนอีกอย่างน้อย 2 คน ก็เสียชีวิตด้วยอาการคล้ายกัน ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างโรคโควิด -19 กับโรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเจ็บป่วยและเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้

นอกจากนั้น WHO เปิดเผยว่ากลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก อาจเกี่ยวพันกับโรคโควิด -19 โดยรายงานจากยุโรคและอเมริกาเหนือตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ระบุถึงกรณีที่เด็กจำนวนหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก ด้วยอาการข้างต้น ซึ่งมีลักษณะบางอย่างคล้ายกับโรคคาวาซากิ และอาการท็อกซิกช็อก ประเทศไทยต้องมาเรียนรู้ เพราะโรคนี้ตอนแรกพบในเด็กน้อย แต่ตอนนี้กลับมาพบในเด็ก ดังนั้น ต้องดูแลกลุ่มเด็กกับผู้สูงอายุที่จะเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง ให้ปลอดโรค ปลอดภัย

ผ่อนปรนมาตรการแล้ว อย่าปล่อยให้การ์ดตก

โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่าจากการศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึง ศบค. พบว่าพตั้งแต่มีการผ่อนปรนมาตรการตั้งแต่วันที่ 23-30 เมษายน 2563  และหลังผ่อนปรยมาตรการ 8-14 พฤษภาคม 2563 นั้น เมื่อผ่อนปรนมาตรการแล้ว พฤติกรรมการป้อนกันโดยรวมกลับตกลง นั่นคือ พฤติกรรมการป้องกันโดยรวม ก่อนผ่อนปรนมาตรการ 77.6 % หลังผ่อนปรนมาตรการ 72.5% การสวมใส่หน้ากากอนามัย/ผ้า ทุกครั้ง  ก่อน 91.2% หลัง 91.0%

ล้างมือด้วยสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทุกครั้ง ก่อน 87.2% หลัง 83.4% กินร้อนใช้ช้อนกลางของตนเอง ทุกครั้ง ก่อน 86.1% หลัง 82.3% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่น ในระยะน้อยกว่า 2 เมตรทุกครั้ง ก่อน 65.3% หลัง 60.7% และไม่เอามือจับหน้า จมูก ปากทุกครั้ง ก่อน 62.9% หลัง 52.9% ส่วนศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ในวันที่ 16 พฤษภาคม พบว่า ปฎิบัติไม่ครบ 51 และไม่ปฎิบัติตามเลย 0 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ.com” ใช้งานวันแรก

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ถือเป็นวันแรกที่ได้มีเปิดใช้แพลตฟอร์ม เว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว 11,599 ร้าน ซึ่งการลงทะเบียนใช้เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นต่างๆ นั้น  ไม่ได้เป็นการบังคับจากภาครัฐ แต่เป็นการขอความร่วมมือ เพื่อจะได้ลดความหนาแน่นของการใช้บริการในร้านต่างๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการดีต่อสุขภาพของผู้ใช้บริการ  ดีต่อผู้ที่เปิดกิจการด้วย เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้นำเชื้อหรือไม่ รวมถึงดีต่อหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบ

ดังนั้น อยากขอความร่วมมือ อีกทั้งการใช้งานไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก โดยทุกคนที่เข้าไปในเว็บไซต์ดังกล่าว สามารถกดเข้าไปโดยที่ไม่ต้องแสดงตัว เพื่อเข้าไปดูว่าร้านดังกล่าวมีผู้ใช้บริการมากน้อยขนาดไหน และเมื่อเข้าไปในร้านก็เพียงนำกล้องไปถ่ายรูปในร้าน และเช็คอินว่าได้มาใช้บริการร้านนั้นๆ  พอจะออกจากร้านก็สแกนคิวอาร์โคด  เพราะหากใครเกิดไปติดเชื้อและมีข่าวว่าติดเชื้อในพื้นที่ไหน หรือร้านใด จะต้องไปค้นหาคนก็สามารถจำกัดคนได้ และใครที่ไปพื้นที่ดังกล่าว ก็จะได้รับการเข้ามาตรวจโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งรัฐก็สามารถเข้าไปตรวจได้ โดยรัฐไม่ต้องหว่านแหในการตรวจ และลดประมาณค่าใช้จ่าย

“สำหรับแอปพลิเคชั่น หมอชนะ และเว็บไซต์ ไทยชนะ.com  นั้นมีความแตกต่างกัน คือ  ในส่วนของแอปพลิเคชั่น หมอชนะ จะเป็นการตรวจดูความเสี่ยงของบุคคล โดยต้องเข้าไปตอบแบบสอบถามจะได้ทราบว่าตนองมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือไม่ ส่วนเว็บไซต์ ไทยชนะ.com เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่มีชุดข้อมูลเข้ามาให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น ส่วนช่องทาง Line ไทยชนะ และมีช่องทางสายด่วน 1119 เป็นการติดต่อสื่อสาร หากใครมีความสงสัยสามารถติดต่อสอบถามผ่าน line หรือทางโทรศัพท์ได้”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

10 อันดับจังหวัดที่มีร้านค้าลงทะเบียนสูงสุดในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 3,420ร้าน ชลบุรี 877 ร้าน นนทบุรี 611 ราย สมุทรปราการ 545 ร้าน ปทุมธานี 423 ร้าน เชียงใหม่ 381 ร้าน สุราษฎร์ธานี 357 ร้าน นครราชสีมา 311 ร้าน ขอนแก่น 248 ร้าน และสงขลา 219 ร้าน

โฆษก ศบค. กล่าวอีกด้วยว่าหากมาตรการผ่อนคลายระยะ 2 แล้วมีแนวโน้มดีขึ้น  จะใช้กฎหมายอื่นๆ มาแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าจะสามารถใช้กฎหมายอะไรได้บ้างถึงจะเหมาสมะ โดยขณะนี้ ได้มีการรวบรวมกฎหมายที่อยู่ในภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าว เพื่อการดูแลสังคม  พี่น้องประชาชน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสามารถควบคุมโรคได้ระดับหนึ่ง

แต่ก็ยังมีประเด็นในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเครื่องบินมาลงในประเทศ ซึ่งต้องมีการพิจารณากฎหมายๆหลายด้าน เพื่อให้การมีนำเชื้อเข้ามาในประเทศ หรือเชื้ออยู่ในประเทศได้รับการดูแลมากที่สุด อีกทั้งสถานการณ์ของโลกของโรคนี้ ยังมีความน่าเป็นห่วง  ดังนั้น ตอนนี้ต้องคงปฎิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงสิ้นเดือน พฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม อยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองทั้งส่วนตัว และส่วนรวมต้องร่วมดูแลสังคมให้ดี