สถิติ 3 ปี คนร้องถูกหลอกทำงานต่างประเทศกว่า 1500 ราย

สถิติ 3 ปี คนร้องถูกหลอกทำงานต่างประเทศกว่า 1500 ราย

กกจ.เผยสถิติ 3 ปี คนร้องถูกหลอกทำงานต่างประเทศกว่า 1500 ราย เสียหายกว่า 100 ล้านบาท

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการหลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศ  และที่ผ่านมาได้มีมาตรการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง  โดยจากข้อมูล ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2561 - 2563)ได้รับเรื่องร้องทุกข์ กรณี สาย/นายหน้า หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ 1,548 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า  102,425,550 บาท ร้องทุกข์กล่าวโทษตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 แล้ว 881 ราย  

โดย ในมาตรการแก้ไขปัญหา นั้น กรมการจัดหางานได้ใช้มาตรการอย่างเข้มข้นตามนโยบายเน้นหนักของกระทรวงแรงงาน ได้แก่

1. มาตรการป้องกัน โดยจัดตั้งชุดเฝ้าระวังตอบโต้ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์  เพื่อ ตรวจสอบและติดตามเฟซบุ๊คและไลน์ของผู้ที่โฆษณาชักชวน/รับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศ

2. มาตรการปราบปราม  บูรณาการความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจับกุม/ดำเนินคดี ผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้การดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในรูปแบบประสานการติดตามการออกหมายจับจากพนักงานสอบสวน และประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งหมายจับเข้าระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เพื่อจับกุมผู้ที่มีหมายจับในขณะที่จะเดินทางออกนอกประเทศหรือจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กกจ. ตรวจสถานประกอบการ-แรงงานต่างด้าว รับมือโควิด-19

กรมการจัดหางาน รับสมัคร ‘แรงงานประมง’ ยังขาดอีกกว่า 5 หมื่นอัตรา

3. มาตรการสร้างการรับรู้  โดยการจัดประชุมชี้แจง/อบรม ให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ประชาชนและคนหางานทั่วไป เพื่อให้มีความรู้เรื่องขั้นตอนของการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้อง รูปแบบหรือกลวิธีการหลอกลวงของสาย/นายหน้า รวมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ และเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้

 
 อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า  ประชาชนทั่วไป/คนหางาน สามารถแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน