กู้วิกฤตกล้วยไม้ไทย เจอพิษโควิด-19

กู้วิกฤตกล้วยไม้ไทย เจอพิษโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้มีกระทบต่อปริมาณการส่งออกกล้วยไม้ไทยซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก กษ.เร่งช่วยเหลือ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับข้อมูลจากสมาคม สหกรณ์ และสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ เมื่อช่วงอาทิตย์นี้ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้มีกระทบต่อปริมาณการส่งออกกล้วยไม้ไทยซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในส่วนของตลาดภายในประเทศ ทั้งการท่องเที่ยว การจัดประชุม สัมมนา การจัดงานต่าง ๆ ก็หยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรซึ่งมีผลผลิตล้นตลาด ส่วนเกินเหลือทิ้ง และราคาผลผลิตลดลง

ตัวเกษตรกรได้มีการปรับตัวโดยปรับลดการผลิตลงโดยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชะลอการปลูกรอบใหม่ ลดจำนวนครั้งการตัดดอก ลดการใส่ปุ๋ยและฉีดพ่นสารเคมี การให้ผู้ซื้อมาเก็บผลผลิตด้วยตนเองที่แปลง หรือถึงกับต้องรื้อแปลงปลูกหรือตัดดอกทิ้ง

นอกจากนี้ ก็มีการพยายามขายตรงถึงผู้บริโภคด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขายแบบออนไลน์ เป็นต้น

อาทิ บริษัท กล้วยไม้ไทย จำกัด ในเครือ TOC GROUP ผู้ส่งออกกล้วยไม้รายใหญ่ของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวีเมื่อเร็วๆนี้ว่า ได้เร่งปรับแผนธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 โดยเปิดช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Facebook , Instagram และ website เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้วยไม้สายพันธุ์ต่างๆ เช่น สกุลหวาย สกุลมอคคาร่า และสกุลแนนเทียร่า

ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการให้ข้อมูลว่า ตลาดยังมีความต้องการอยู่ แต่เนื่องจากมาตรการ Lock down ทำให้การขนส่ง มีจำนวนเที่ยวลดลง ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นกว่าช่วงปกติมาก อย่างการขนส่งทางรถไปจีน ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนคนขับ หัวลาก และรถขน เมื่อข้ามประเทศ

ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินมีเที่ยวบินลดลง พื้นที่ระวางสินค้ามีจำกัด รวมทั้งการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณค่าระวางสินค้าทางอากาศ และการขนส่งภายในประเทศในพื้นที่ห่างไกลถูกจำกัดด้วยการประกาศ Lock down ระหว่างจังหวัด และการกำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิว

กล้วยไม้ไทย มีมูลค่าการส่งออกกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับพื้นที่และผลผลิตกล้วยไม้ ปี 2563 พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศมี 19,512 ไร่ ลดลงจากปี 2562 จำนวน 2,009 ไร่ (ปี 2562 จำนวน 21,521 ไร่) หรือลดลงร้อยละ 9.34 โดยผลผลิตรวมทั้งประเทศ 32,644 ตัน ลดลงร้อยละ 33.10 หรือลดลง 16,150 ตัน

ซึ่งกล้วยไม้เป็นไม้ดอกของประเทศที่มีการปลูกมากที่สุดในพื้นที่การปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมด 64,188 ไร่ จำนวน 14,556 ครัวเรือน นอกนั้นจะเป็นมะลิเด็ดดอก ดอกรัก บัวหลวง ดอกดาวเรือง ดอกจำปี-จำปา กุหลาบ สร้อยทอง และดอกพุด

นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรใน 2 มาตรการหลักคือ มาตรการกระจายผลผลิต โดยพยายามกระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายสหกรณ์ในลักษณะ pre-order, การเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ โดยจำหน่ายตรงสู่ผู้บริโภค ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงฯร่วมกับ Lazada, 24 Shopping, และไปรษณีย์ไทย รวมทั้งจัดทำเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.comและมอบหมายสำนักงานเกษตรจังหวัดจัดหาสถานที่จำหน่ายในพื้นที่ อาทิ หน้าสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ตลาดเกษตรกร เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดช่วงเคอร์ฟิว และการขอลดต้นทุนค่าขนส่งทางเครื่องบิน

ในส่วนมาตรการทางการเงิน จะสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากแหล่งทุนต่างๆ รวมทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)