โควิดพ่นพิษทำควบรวม‘ทีโอที-กสท’สะดุด 

โควิดพ่นพิษทำควบรวม‘ทีโอที-กสท’สะดุด 

ดีอีเอสเผยควบรวมทีโอที-กสทฯส่อแววเลื่อนไปอีก 6 เดือน เหตุจากพิษโควิด-19 พร้อมนั่งเป็นประธานกำกับเองโดยตรง  ชี้สองรัฐวิสาหกิจเคยนำร่องเป็นงานประมูล 5จีมาแล้ว ล่าสุดผนึกกำลังปล่อยแคมเปย “เน็ตอยู่บ้าน” ดัมพ์ราคา 390 บาทสปีด 100 เมก

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) มีแนวโน้มว่าจะขอมติที่ประขุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอขยายเวลาควบรวมออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 14 ก.ค. 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นทำให้กระบวนการเอกสารบางอย่าง เช่น การแจ้งหนังสือถึงเจ้าหนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไปยังต่างประเทศ ติดขัด เป็นต้น ทำให้กำหนดการควบรวมเสร็จในเดือน ม.ค. 2564

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร การเงิน และ กฎหมาย จ้างที่ปรึกษาและดำเนินการคืบหน้าไปมากแล้ว ขณะที่ชื่อบริษัทก็ได้ดำเนินการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อบริษัทมหาชนกับ มหาชน จดชื่อ บริษัทใหม่ก็ย่อมเป็น มหาชน อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องชื่อไม่ใช่ประเด็น สามารถแจ้งต่อครม.ให้ทราบได้ ซึ่งหากมีมติให้ขยายระยะเวลา และ ตนเองยังอยู่ในตำแหน่งรมว.ดีอีเอส ตนเองจะนั่งเป็นประธานคณะในการรวบรวมกิจเอง จากแต่เดิมที่มีน.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน

" ที่ผ่านมาจะเห็นความร่วมมือของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม มาก่อนแล้ว คือ การร่วมประมูลคลื่น 5จี ซึ่งใครๆก็ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่ก็ทำให้เห็นมาแล้ว นอกจาก นี้ยังมีความร่วมมือในการออกแพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ฟรี 3 เดือน ความเร็ว 100/50 เมกะบิต ซึ่งทั้งสองบริษัทก็ร่วมมือกันเป็นการส่งสัญญาณในการเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

สำหรับรายละเอียดของแคมเปญ เน็ตอยู่บ้านนั้น รัฐมนตรีดีอีเอส เสริมว่า เพื่อแนวทางช่วยเหลือโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมกสทฯและทีโอที ได้สนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (ฟิกซ์ บรอดแบนด์ ) สำหรับประชาชนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยจัดแพ็กเกจเน็ตอยู่บ้าน ด้วยความเร็ว 100/50 เมกะบิต ฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ภายใต้สัญญาใช้บริการ 12 เดือน โดยในระยะเวลา 9 เดือนที่เหลือประชาชนจะชำระค่าบริการในราคา 390 บาทต่อเดือนทั้งนี้​ ฟรีค่าใช้จ่ายแรกเข้าและค่าติดตั้ง ซึ่งประชาชนสามารถสมัครรับสิทธิแพ็กเกจดังกล่าวได้ตั้งแต่ 10 พ.ค.​-31 ก.ค. 2563

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การที่ทั้ง 2 หน่วยงานมีแนวทางช่วยเหลือโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมดังกล่าว​ ถือเป็นการปูทางสู่การควบรวมกิจการเป็น บริษัท โทรคมนาคม​แห่งชาติ​ จำกัด หรือเอ็นที ในอนาคต โดยจะนำมาซึ่งประโยชน์ของทั้ง 2 หน่วยงาน และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้ ได้มีการประสานไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายอื่นๆ เพื่อให้การสนับสนุน​โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม แต่ด้วยสถานการณ์​วิกฤต​เช่นนี้ จึงไม่สามารถ​ดำเนินการได้

“เบื้องต้นได้จัดเตรียมอุปกรณ์​เพื่อรองรับความต้องประชาชนไว้จำนวน 100,000 ราย ซึ่งสถานการณ์​การแพร่ระบาด​ของไวรัสโควิด-19 ไม่ดีขึ้น จะพิจารณา​ขยายระยะเวลาสนับสนุน​เพิ่ม​เติมอีก แต่หากสถานการณ์​คลี่คลาย​ ตั้งแต่​เดือนที่ 4 เป็นต้นไปจะคิดค่าบริการในราคา 390 บาทต่อเดือน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

สำหรับผู้ใช้บริการ​อินเทอร์​เน็ตบ้าน โดยรวมมีจำนวนกว่า 8 ล้านครัวเรือน​ แบ่งเป็น กสทฯจำนวน 2 แสนครัวเรือน, ทีโอทีจำนวน 1.5 ล้านครัวเรือน, บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบีจำนวน 2 ล้านครัวเรือน​ ทรู ออนไลน์ 3 ล้านครัวเรือน​ และเอไอเอส ไฟเบอร์ราว 1 ล้านครัวเรือน