3 รูปแบบ หลังการผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์

3 รูปแบบ หลังการผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์

นพ.เฉลิมชัย ระบุ การผ่อนคลายมาตรการ "กึ่งล็อกดาวน์" สิ่งสำคัญคือ การให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิต ทำมาหากินได้ ขณะเดียวกันต้องผ่อนคลายอย่างพอเหมาะ ชี้ หากผ่อนคลายเร็ว และประชาชนให้ความร่วมมือต่ำ มีโอกาสระบาดรอบสองรุนแรง

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุในบทความ "ความรู้เรื่อง COVID-19 (ตอนที่ 50)" ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Chalermchai Boonyaleepun" ว่า ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นยังไม่ได้มีการออกมาตรการล็อกดาวน์ที่แท้จริง แต่เป็นการออกมาตรการบางส่วนที่อาจจะเรียกได้ว่า “กึ่งล็อกดาวน์” เพราะถ้าเป็นการล็อกดาวน์ที่เต็มรูปแบบแล้วจะต้องถึงขั้นปิดบ้าน ปิดเมือง และปิดประเทศ

เช่น ในกรณีล็อกดาวน์ที่เมืองอู่ฮั่น ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน (24 ชม.ไม่ใช่ 6 ชม.แบบของประเทศไทย) แต่ละครอบครัวหรือแต่ละบ้านจะออกมาข้างนอกได้เพียงคนเดียว สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อออกมารับอาหารหรือยาที่จำเป็นเท่านั้น กิจกรรมต่างๆทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจต้องหยุดทั้งหมด จึงเห็นได้ว่ามาตรการที่ทางรัฐบาลไทยได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้เข้มข้นเต็มรูปแบบ จึงต้องเรียกมาตรการทั้งหมดรวมกันว่า “กึ่งล็อกดาวน์”


ถึงแม้มาตรการที่ออกมาจะยังไม่เข้มข้นเต็มรูปแบบ แต่ผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจก็มีค่อนข้างมาก รัฐจึงต้องเร่งทยอยออกมาตรการต่างๆเป็นจำนวนมากที่จะรองรับและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิเช่น การช่วยเหลือผู้ไม่มีงานทำเดือนละ 5,000 บาท ใน 3 เดือนแรก การช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกรทุกครัวเรือน การลดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การช่วยเหลือให้ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้ลดการส่งเงินสมทบ และให้ได้รับเงินเพิ่มมากขึ้นในกรณีถูกเลิกจ้างหรือในกรณีว่างงาน เป็นต้น

ประกอบกับสถานการณ์ภายใต้มาตรการต่างๆ ที่ทยอยออกมาเป็นลำดับ ประสบความสำเร็จ ทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก (จากหลักร้อยลดลงมาเป็นหลักหน่วยต่อวัน) และผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ (1.8%) จึงทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสังคมส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ว่างงาน ไม่มีรายได้และไม่มีเงินออม) ให้รัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆลงบ้าง (จากกึ่งล็อกดาวน์)

สิ่งสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณามาตรการผ่อนคลายมีเพียง 2 ประการ คือ


1) ผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตทั้งทางด้านการทำมาหากิน(เศรษฐกิจ)และการใช้ชีวิตอื่นๆ(สังคม) ให้มากเพียงพอที่ประชาชนจะสามารถมีรายได้พอเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวไม่ต้องพึ่งพาการเยียวยาจากรัฐ และมีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตทางสังคมพอสมควร

2) แต่การผ่อนคลายมาตรการใดๆ ก็ตาม ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรครอบใหม่เสมอไม่มากก็น้อย จึงต้องผ่อนคลายมาตรการให้พอเหมาะพอดี ทั้งมิติจำนวนของมาตรการ และมิติเรื่องความเร็วของมาตรการ เพราะถ้าผ่อนคลายมากไปและเร็วเกินไปอาจเกิดโรคระบาดรอบสองได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะรุนแรงและควบคุมได้ยากกว่าการระบาดรอบแรก (กรณีประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น)

แล้วเหตุการณ์หลังการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ประมวลแล้วน่าจะออกมาได้ 3 รูปแบบ 

• รูปแบบที่ 1 มาตรการออกมาได้พอเหมาะพอดี และภาคประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน และผู้มารับบริการ มีวินัยและความรับผิดชอบบนฐานความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนั้นรัฐยังมีการติดตามสอบสวนโรคและประเมินสถานการณ์ได้ดี ผลคือจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตน้อย ทำให้มาตรการผ่อนคลายต่างๆได้รับการปรับขยายค่อยๆผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ

• รูปแบบที่ 2 มาตรการผ่อนคลายออกมามากเกินไปและเร็วเกินไป ร่วมกับภาคประชาชนให้ความร่วมมือระดับปานกลาง ความรู้สึกของคนในสังคมไปในทางผ่อนคลายเชื่อว่าโรคระบาดควบคุมได้แล้ว วินัยและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันการแพร่เชื้อลดลง เช่น เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม การไม่ไปทำกิจกรรมร่วมกันในสถานที่ที่มีความเสี่ยง เป็นต้น ผลคือจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก (หลักหมื่นคน) และผู้เสียชีวิตก็มีเพิ่มขึ้น (หลักร้อยถึงพันคน) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีการระบาดรอบที่สอง โดยที่มาตรการภาครัฐทางสาธารณสุขกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง ยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการต่างๆทั้งหมด และโชคดีที่กลับมาควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้เกิดโรคสงบชั่วคราวครั้งที่ 2


• รูปแบบที่ 3 มาตรการผ่อนคลายออกมามากเกินไปและเร็วเกินไป ร่วมกับภาคประชาชนให้ความร่วมมือในระดับต่ำ เนื่องมาจากเข้าใจผิดว่าโรคสงบแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงอีก วินัยและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการช่วยกันป้องกันการแพร่เชื้อลดลงอย่างมาก ผลคือเกิดการระบาดรอบ 2 อย่างรุนแรง จนศักยภาพของระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก (หลักแสนคน) จึงล้นโรงพยาบาล ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมาก (หลักพันหรือหลักหมื่นคน) ทำให้ภาครัฐต้องยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทั้งหมดและออกมาตรการใหม่ที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม มีผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม

158874782394

ประเทศที่ตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง จะประสบความสำเร็จตามแนวทางที่ 1 ได้ จะต้องมีปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้


1) ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจการระบาดของโรคโควิด19 เป็นอย่างดีว่าจะประมาทไม่ได้ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างมากแล้วก็ตาม เพราะจะยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแอบซ่อนอยู่ในสังคม พร้อมที่จะแพร่เชื้อได้ตลอดเวลา


2) รัฐจะต้องคำนึงถึงดุลยภาพระหว่างผ่อนคลายมาตรการให้สังคมและเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ กับการคงความเข้มบางมาตรการทางสาธารณสุขเอาไว้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสอง ซึ่งจะสร้างความเสียหายที่มากกว่าเดิม ทั้งมิติทางด้านสาธารณสุขและมิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ