ฟิวเจอร์แล็บฯ วิเคราะห์ '10 เทรนด์อนาคตคนเมือง'

ฟิวเจอร์แล็บฯ วิเคราะห์ '10 เทรนด์อนาคตคนเมือง'

“ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” เผยข้อมูล “10 เทรนด์ที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤติโควิด-19” ทั้งในแง่มุมพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้เทคโนโลยี การเดินทาง การดูแลสุขภาพ ตลอดจนแนวโน้มนโยบายภาพใหญ่รัฐบาล พร้อมชี้ทุกภาคส่วนเร่งเตรียมพร้อมรับมือในทุกการเปลี่ยนแปลง

การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ 10 New Normal และอนาคตคนเมืองหลังพ้นวิกฤติโควิด-19 จะเป็นอย่างไร? จัดโดย Techsauce ว่า เมื่อความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องปกติและเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว หากยังติดกับดักความสำเร็จและวิธีการเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง จาก “ผู้นำ” ก็จะกลายเป็น “ผู้ตาม” จนถูกทิ้งรั้งท้ายขบวนในโลกยุคใหม่ได้

158868565869

ศูนย์ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) จึงหยิบยกประเด็นสำคัญนำมาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Web of Impact ถึงผลกระทบสังคมในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น หลังพ้นภาวะวิกฤติโควิด-19 สรุปเป็น 10 เทรนด์ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

1.โครงสร้างทางสังคมใหม่ๆ ในแง่ของการที่เราสามารถอยู่ร่วมกันในรูปแบบใหม่ สิ่งที่คาดการณ์แน่นอนว่าจะต้องมีขึ้นในไม่ช้า อาทิ กฎหมายที่ใช้ร่วมกันทั่วโลกหรือเฉพาะในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีไอโอทีและระบบต่างๆ อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างของสังคมใหม่ก็คือ ผู้คนจะให้ความสำคัญต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่มากยิ่งขึ้น โดยจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัว (privacy) เพื่อที่จะปกป้องสุขภาพ และทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น

2.ภาวะวิกฤติทางอารมณ์ ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจในระดับบุคคลจะลดน้อยลง แต่ความร่วมมือระหว่างองค์กรและอุตสาหกรรมจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพด้านสายเทคโนโลยี ทำให้การวางโครงสร้างสังคมรูปแบบใหม่ที่เป็นแบบการสัมผัสกันน้อยลง ซึ่งภาครัฐจะใช้เวลาปรับตัวและจะถูกปรับเปลี่ยนมากขึ้น เช่น การประชุมอย่างถูกกฎหมายผ่านทางออนไลน์ วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นการล้างไพ่ทางเศรษฐกิจในทางบวก คือรัฐและองค์กรธุรกิจสามารถใช้โอกาสนี้ในการจัดการเรียนผ่านออนไลน์ฟรี ให้กับแรงงาน หรือการกำหนดระเบียบการทำงานที่ลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น

3.วิกฤติทางอารมณ์ของคนและสังคมการไร้การสัมผัส เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิมๆ นำไปสู่การสูญเสียสมดุลทางความคิดและอารมณ์ อาทิ เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพมีระยะห่างกันออกไปเรื่อยๆ ส่งผลในเรื่องของอารมณ์ในแง่ของความใส่ใจ และความห่วงใยในอนาคต

เนื่องจากโครงสร้างสังคมเด็กรุ่นใหม่ที่มีการเรียนออนไลน์ เราจึงเป็นกังวลว่าการปรับตัวเข้าสังคม อีกทั้งวัยทำงานที่นิยมโค-เวิร์คกิ้งสเปซก็อาจจะมีปรับพื้นที่ในรูปแบบการแบ่งแยกพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น และการออกแบบพื้นที่บริการแบบไม่ต้องสัมผัส แต่ใช้ฟีเจอร์สั่งงานด้วยเสียง หรือ AR แทน ซึ่งจากเดิมสังคมไร้การสัมผัสน่าจะเป็นเทรนด์ระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในตอนนี้ดูเหมือนว่าโควิด จะเร่งให้มันเกิดขึ้นทันทีในตอนนี้ และทุกอย่างบนโลกจะถูกทำให้เป็นระบบไร้สัมผัสอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสำหรับในธุรกิจภาคบริการ ก็อาจจะต้องหาวิธีมารองรับเพื่อให้ลูกค้ามีการ “สัมผัส” น้อยที่สุด”

158868574218

4.เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพภายในอาคาร จากความไม่เชื่อมั่นและความวิตกกังวลในเรื่องความไม่ปลอดภัยในเวลาที่ต้องออกไปยังพื้นที่สาธารณะ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ อาทิ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ต้องมีการวางแผนรับมือ และสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การวางระบบฆ่าเชื้อสำคัญเหมือนการวางระบบแอร์ น้ำ ไฟ มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในอาคาร เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าปลอดภัย

158868576098

5.Prioritizing Space Over Convenience คือ วิถีความคิดของผู้บริโภคในแง่การซื้อที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไป จากที่ทุกอย่างจะรวมตัวกันอยู่ในกลางเมือง โดยยึดเอาแนวเส้นการเดินทางที่ใกล้รถไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการทำงานในอนาคต สามารถทำงานที่บ้านได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ทำงานทุกวัน ฉะนั้น การจัดความสำคัญระหว่างพื้นที่กับความสะดวกจะมีความสำคัญมากขึ้น จึงอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัย ไม่จำเป็นต่ออยู่ในเมือง หรือคอนโดขนาดเล็ก แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นชานเมืองที่มีพื้นที่กว้างขึ้น

6.เศรษฐกิจติดบ้าน หรือที่เรียกว่า Everything At Home วิถีชีวิตที่เริ่มเคยชินกับการทำงานและกิจกรรมต่างๆ ภายในที่พักอาศัยของตนเอง ส่งผลต่อความต้องการที่อาจจะเปลี่ยนไปจากพื้นที่ีขนาดเล็ก ก็เปลี่ยนเป็นต้องการมีพื้นที่ที่สามารถทำอะไรได้หลายหลากมากยิ่งขึ้น เพื่อบาลานซ์ความต้องการในหลากหลายเซกเตอร์

158868584597

7.แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพเชิงรุก เพื่อป้องกันความเจ็บป่วย มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเมือง อาคาร บ้านจะต้องมีบริการและแพลตฟอร์มสุขภาพและสุขภาพจิตเป็นบริการพื้นฐาน แต่จะต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหลักสำคัญเช่นกัน

8.การขนส่งระยะสั้น ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้รูปแบบการขนส่งสินค้าจากร้านค้าส่งถึงที่อยู่ปลายทางลูกค้าโดยตรง อย่างระบบการขนส่งระยะสั้นแบบ 1 กิโลเมตร และการจัดส่งแบบรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง จะเป็นที่ต้องการและความสำคัญมากยิ่งขึ้น

9.อุปกรณ์สวมใส่จัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพและความปลอดภัยมากกว่าความเป็นส่วนตัว คือ การเติบโตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ซึ่งผู้บริโภคจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับความปลอดภัยที่มีมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เจาะลึกถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น สามารถดูได้ว่าสถานที่ที่อยู่ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นประเด็นในเรื่องของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว แต่กระนั้นสิ่งที่เขาได้รับย่อมคุ้มค่ากับการแลกเปลี่ยนเช่นกัน อาทิ ฟิตบิท ที่มีการเพิ่มฟังก์ชั่นเทคโนโลยีตรวจวัดไข้ และเช็คอาการเบื้องต้นของผู้สวมใส่อุปกรณ์

10.ซูเปอร์ฟู้ด ผู้บริโภคจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าสินค้าที่จะนำมาปรุงอาหารต้องมีมาตรฐาน ปลอดภัย และมีความสะอาด รวมถึงผู้บริโภคบางส่วนเองเริ่มมีการทำฟาร์มขนาดเล็กในเมืองมากยิ่งขึ้น

158868611592

ขณะเดียวกันทุกๆ วิกฤติสร้างโอกาสให้กับใครบางคนเสมอ เราจึงควรสร้างโอกาสให้กับตนเองและองค์กร เพียงแต่เราต้องมีสติ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา หรือกล้าลบสิ่งเดิมๆ ทิ้งไป และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นแก่นรากของการสร้างและพัฒนา Lifelong Learning Ecosystem ซึ่งเป็นหนึ่งในคัมภีร์ที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ ต้องเข้าใจและเริ่มปฏิบัติ

“เคล็ดลับของการเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ความเต็มใจและยินดีที่จะยอมละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มา แล้วลองค้นหาวิธีการใหม่ๆ มาทดแทน แม้ว่าวิธีการนั้นจะเคยนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีก็ตาม เพื่อตัวเอง องค์กร และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงของดิสรัปชั่นนี้” การดี กล่าว