ไทยพบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม 9 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ไทยพบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม 9 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ศบค. แถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 9 ราย รวมยอดสะสม 2,947 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตรวม 54 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 13 ราย รวม 2,665 ราย

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 9 ราย รวมยอดสะสม 2,947 ราย ใน 68 จังหวัด ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตรวม 54 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 13 ราย คิดเป็น 90.43% รวม 2,665 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 228 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 704 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,654 ราย ภาคเหนือ 94 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคกลาง 375 ราย และภาคใต้ 674 ราย
158813497098

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 29 เมษายน จำนวน 9 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 6 ราย (กทม. 3 ราย ภูเก็ต 3 ราย) และ ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 1 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย อยู่ในจังหวัดภูเก็ต 4 ราย กรุงเทพมหานคร 3 ราย และสมุทรปราการ 2 ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่ยังเจอผู้ป่วยรายใหม่ใน 7 วันที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ
ผู้ป่วย 0-14 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากพ่อแม่

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า จากรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุ 0-14 ปี โดยกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ มกราคม – 26 เมษายน พบว่ามีจำนวน 88 ราย คิดเป็น 3% ของผู้ป่วยทั้งหมด สัดส่วนแบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 0-4 ปี 34% อายุ 5-9 ปี 32% อายุ 10-14 ปี 34% โดย 90% เป็นชาวไทย และ 10% เป็นชาวต่างชาติ อัตราเพศชายและหญิงคิดเป็น 1 : 1 ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่พบในผู้ป่วย 0-14 ปี ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ถึง 76 ราย (86.4%) (โดยส่วนใหญ่ติดจากพ่อแม่กว่า 45% ถัดมาคือ บุคคลอาศัยร่วมบ้าน 24% ญาติอื่นๆ 8% และไม่ระบุ 24%) มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ 3 ราย (3.4%) มีประวัติเดินทางไปสถานที่แออัด/สถานที่ชุมชน 3 ราย (3.4%) ไม่มีข้อมูล 6 ราย (6.8%)

โดย 3 อันดับ ที่มีจำนวนผู้ป่วยจำเพาะตามช่วงอายุสูงสุด ต่อแสนประชากร (คำนวณเฉพาะผู้ป่วยชาวไทย) ได้แก่ ภูเก็ต 8.1 ต่อแสนประชากร ยะลา 8.1 ต่อแสนประชากร และ ปัตตานี 5.9 ต่อแสนประชากร (ยะลา และ ปัตตานี เชื่อมโยงกับผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างประเทศ)

โควิด-19 ไม่ติดต่อทางน้ำนม

โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่แม่ให้นมบุตร ซึ่งมีความกังวลว่าลูกจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การติดเชื้อไม่ได้ผ่านทางน้ำนม คุณแม่ที่ป่วยสามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องป้องกัน อาจบีบน้ำนมเก็บไว้ หรือพยายามป้องกันขณะให้นมลูก เพื่อไม่ให้ลูกติดเชื้อ เน้นใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งมีการบริจาคนมผง เพื่อให้เด็กได้ทานในช่วงระยะเวลาการระบาด ทางมูลนิธิฯ ไม่แนะนำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ แนะนำว่าอย่าเปลี่ยน จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและเด็กไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ขอให้ประสานกับบุคลากรทางการแพทย์ด้านสาธารณสุข เพื่อรับความช่วยเหลือในด้านนี้

คนไทยใส่หน้ากากอนามัย 96.8%

ด้าน กรมสุขภาพจิต ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนชาวไทย ช่วงกลางเดือนมีนาคม - 5 เมษายน 2563 เปรียบเทียบกับช่วงสำรวจในวันที่ 12-18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า พฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม บุคลากรทางการแพทย์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 87.7% จาก 87.1% ขณะที่ประชาชน มีสัดส่วน 82.2% ลดลงจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 86.9%

ขณะที่การหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ บุคลากรทางการแพทย์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 97.4% จากเดิม 93.0% ด้านประชาชน เพิ่มขึ้นเช่นกัน 87.5% จากเดิม 83.6% ด้านการสวมหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน/อยู่ในที่ชุมชน บุคลากรทางการแพทย์ 97.7% จากเดิม 84.3% ประชาชนเพิ่มขึ้น 92.6% จากเดิม 60.7% และ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จนปฏิบัติงานหรือตอนทำงาน หรือตอนที่มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย บุคลากรทางการแพทย์ 97.4% จาก 78.2% ขณะที่ประชาชนให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นเช่นกันกว่า 96.8% จากเดิม 70.0%

โฆษก ศบค. กล่าวว่า จะสังเกตว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมของประชาชนลดลง ตอนนี้ยังไม่ถึงช่วงผ่อนปรน ขอให้ช่วยกันหน่อยนึง การเว้นระยะห่างมีความสำคัญสูงมาก

สถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 3,138,190 ราย อาการหนัก 56,965 ราย รักษาหาย 955,188 ราย เสียชีวิต 217,974 ราย โดย 10 อันดับ อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ถัดมา ได้แก่ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ตุรกี รัสเซีย อิหร่าน และจีน ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 59

สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน และ เอเชีย พบว่า อินเดีย อยู่อันดับที่ 15 , สิงคโปร์ อันดับที่ 26 , ปากีสถาน อันดับที่ 27 , ญี่ปุ่น อันดับที่ 29 , เกาหลีใต้ อันดับที่ 35 , อินโดนีเซีย อันดับที่ 36 , ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 40 , มาเลเซีย อันดับที่ 48 , ไทย อันดับที่ 59 , เวียดนาม อันดับที่ 126 , เมียนมา อันดับที่ 135 , บรูไน อันดับที่ 138 , กัมพูชา อันดับที่ 142 และ ลาว อันดับที่ 180

เตรียมรับคนไทยตกค้างจากต่างประเทศ

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีเที่ยวบินที่นำคนไทยที่ตกค้างกลับไทย ว่า ระหว่างวันที่ 4-28 เมษายน 2563 มีคนไทยเดินทางกลับมาจาก 22 ประเทศ รวมกว่า 2,981 คน โดยในวันนี้ (29 เมษายน) จะมีนักเรียนนักศึกษา และคนทำงาน เดินทางจาก อินเดีย (มุมไบ) ลงสนามบินดอนเมืองเวลา 19.45 น. และ วันที่ 30 เมษายน มีทั้งหมด 3 เที่ยวบิน ได้แก่ คนไทยที่ตกค้างจากรัสเซีย 15 คน ลงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 10.30 น. นักท่องเที่ยวคนไทยที่ตกค้างจากศรีลังกาและมัลดีฟส์ 40 คน ลงสุวรรณภูมิ เวลา 16.45 น. และ นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และนักท่องเที่ยว จากอินเดีย (เจนไน/บังคาลอร์) 170 คน ลงสนามบินดอนเมือง เวลา 23.10 น.

“สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศภาคพื้นดิน ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน ลงทะเบียนไว้ 364 คน เดินทางเข้ารวม 372 คน ได้แก่ มาเลเซีย 364 คน (ผู้ลงทะเบียน 261 คน และ ไม่ลงทะเบียน 103 คน) เมียนมา 3 คน สปป.ลาว 2 คน และ กัมพูชา 3 คน” โฆษก ศบค. กล่าว

ย้ำยังไม่เปิดประเทศให้ท่องเที่ยว

ส่วนกรณีที่มีประเด็นที่ว่านักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางเข้ามาประเทศไทย โฆษก ศบค. ระบุว่า เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจาก มีการขยายเวลาห้ามอากาศยานบินเข้าไทยเป็นการชั่วคราว มีการขยายออกไป ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 พฤษภาคม 2563 เราต้องพยายามดูแลคนในประเทศก่อน การท่องเที่ยวไว้ทีหลัง

“ขณะที่การมีวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน การคุมเข้มรอยต่อจังหวัด ตามที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อหนึ่ง คือ การชะลอหรืองด การเดินทางข้ามจังหวัดยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ ขอความร่วมมือทุกท่านด้วย ท่านไปเที่ยวที่ไหนก็คงไม่สนุกเพราะสถานที่ต่างๆ ยังปิดให้บริการอยู่ รวมถึงจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อตัวท่านเอง เพราะเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้น การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังสำคัญและจำเป็น” โฆษก ศบค. กล่าว

“ผ่อนปรน” ผู้ประกอบการ-ประชาชนต้องร่วมมือ

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการผ่อนปรนมาตรการที่จะเกิดขึ้น ต้องได้รับความร่วมมือกับทั้ง ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป มาตรการต่างๆ ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน ตอนนี้สถานการณ์ผ่อนคลายลง แต่วางใจไม่ได้ มาตรการที่เราคุมเข้มได้ดีขึ้นแสดงถึงศักยภาพเราทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมกันทำงานมา แต่ยังคงมีบางประทศที่ผ่อนปรน ทำให้เกิดการระบาดระลอกสอง

“ดังนั้น สิ่งที่เรามีการผ่อนคลาย ต้องทำกันอย่างระมัดระวัง ในทุกก้าวเดินที่จะประกาศแสดงถึงความสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น มาตรการนี้ โดยคณะทำงานชุดต่างๆ ต้องช่วยกันคิดและหามาตรการ พิจารณาผลกระทบ แน่นอนว่า สุขภาพมาก่อน เศรษฐกิจก็ตามมา ขอให้ประชาชนติดตามข่าวที่ออกจากศบค. เท่านั้น”

ขณะที่กรณีข้อปฏิบัติของร้านอาหารหลังจากมีการผ่อนปรน โฆษก ศบค. ระบุว่า หลักการคร่าวทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการอะไรก็แล้วแต่ ต้องยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเป็นพื้นฐาน เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการสัมผัสที่เกิดขึ้นในการให้บริการ ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของผู้ประกอบการแต่ละชนิด ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค. ได้มีการเตรียมการให้ผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสมาคม หรือชมรม มีการตรียมการในระดับหนึ่ง และฝากส่งข้อมูลถึงกันและกันเพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับ New Normal

“ฝั่งผู้เข้ามารับบริการ ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกัน ทั้งสองส่วนจะต้องถูกเตรียม ถ้าทั้งสองส่วนยอมรับกติกา และยอมรับวิธีการ ยอมรับชีวิตวิถีใหม่ ก็จะทำให้เราห่างไกลจากการติดเชื้อ และประสบความสำเร็จ แต่หากทั้งสองส่วนมีส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง เราอาจจะไม่เห็นตัวเลขหลักเดียวอีกแล้ว เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะพังครืนลงไป งบประมาณต่างๆ จะต้องทุ่มเทลงไปอีก ช่วงเปลี่ยนผ่านต้องระมัดระวัง ตอนนี้รับฟัง และเตรียมตัวเองเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ ขอความร่วมมือทำความเข้าใจ เพื่อคนไทยทุกคน และยืนยันตัวเลขผู้ป่วยใหม่หลักเดียว ให้ได้นานที่สุด” โฆษก ศบค. กล่าว