ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี ส่งเสริมย้ายฐานการลงทุน

ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี ส่งเสริมย้ายฐานการลงทุน

ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีการยกเว้นภาษีรวม 3 ฉบับ ลดภาษี 50-150% เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ เน้นลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

โดยมาตรการภาษีที่ ครม.เห็นชอบ 3 มาตรการได้แก่ มาตรการภาษีเป็นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 50 - 150% แล้วแต่มาตรการ โดยเป็นมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง โดยกระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Automation) และนโยบายด้านการพัฒนาศักยภาพคนในการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง และการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง 

สำหรับมาตรการเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ สมควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม การจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง หรือการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าว สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563

การดำเนินการตามมาตรการนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561ได้แก่  มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation) ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้รวมประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นภาษีเงินได้ นิติบุคคล 20,000 ล้านบาท ตามข้อมูลที่กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ในปี 2561 – 2564 ว่าจะมีการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบ Automation ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาทโดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 10,800 ล้านบาทโดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยและก่อให้เกิดการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจำนวน 40,000 คน

และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2,400 ล้านบาท ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการฝึกอบรมลูกจ้างจำนวน 40,000 คน และยังช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศและการพัฒนาการประกอบกิจการของภาคเอกชน