‘วิรไท’ แนะจัดทรัพยากรใหม่ รับมือเศรษฐกิจยุคหลังโควิด

‘วิรไท’ แนะจัดทรัพยากรใหม่ รับมือเศรษฐกิจยุคหลังโควิด

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ "โควิด-19" กลายเป็นฉนวนเหตุสำคัญที่นำมาสู่ "วิกฤตเศรษฐกิจโลก" ครั้งใหม่

และถือเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดและมีผลกระทบเป็นวงกว้างทำให้ ธปท. ต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินแบบ "นอกตำรา" ซึ่งน้อยประเทศใน "กลุ่มตลาดเกิดใหม่" จะกล้าทำแบบนี้ และทำให้เกิดคำถามตามมาว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยหรือไม่

โดย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ระบุว่า การทำนโยบายเศรษฐกิจมหภาคท่ามกลางภาวะวิกฤตโรคระบาดที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดนโยบายที่ครอบคลุมและมีเป้าหมายชัดเจน เพราะคนที่ได้รับผลกระทบต่างกัน โดยนโยบายการคลังถือเป็นพระเอกในสถานการณ์แบบนี้ เพราะสามารถทำนโยบายได้ตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ

ส่วนนโยบายการเงินจะมาช่วยเสริม ใช้ดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศไม่ให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบสถาบันการเงิน ซึ่งนโยบายทั้ง 3 ด้านต้องสอดคล้องและเสริมซึ่งกันและกัน เชื่อว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้กระทรวงการคลัง ธนาคารกลางทั่วโลก ต้องคิดนโยบายที่ต่างไปจากเดิมเป็นนโยบายที่เราอาจจะไม่คุ้นชิน เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ามีหลายนโยบายที่หลายประเทศทำคล้ายกับไทย เช่น การเลื่อนชำระหนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้และวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้มีสภาพคล่องนำไปดูแลการจ้างงาน ช่วยประคับประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเราต้องคิดนอกกรอบให้เหมาะกับสถานการณ์ เพราะแน่นอนว่าในภาวะปกติคงไม่มีธนาคารกลางที่ไหนในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินจะมาสนับสนุนให้สถานบันการเงินเลื่อนกำหนดการชำระหนี้

ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก คือ การดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาของภาคการเงินที่เกิดขึ้นจุดหนึ่งลามไปทั้งระบบ เพราะเสถียรภาพของระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก จึงต้องดูแลไม่ให้เกิดจุดเปราะบางขึ้น

เขาย้ำว่า จากบทเรียนวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายเชิงป้องกัน เพราะการที่ภาคการเงินเชื่อมโยงถึงกันหมด เวลาเกิดปัญหาขึ้นจะลุกลามเป็นโดมิโน มาตามแก้ทีหลังมีต้นทุนสูงมาก ทั้งกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่เป็นผู้ออมเงิน ดังนั้นการทำนโยบายเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาแล้ว ยังช่วยลดทุนที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

“นโยบายต่างๆ ที่เราทำไม่น่ามีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ เพราะสิ่งที่เราทำไม่ต่างจากธนาคารกลางชั้นนำของโลก ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมหลักและตลาดเกิดใหม่ที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและระบบการเงินคล้ายๆ กับเรา เราก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่ทำนโยบายเร็ว และมีหลายธนาคารกลางประสานเข้ามาด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีอะไรบ้าง”

วิรไท บอกด้วยว่า ในวันนี้ (27 เม.ย.) ธปท. จะเริ่มเปิดให้ธนาคาราณิชย์ยื่นขอซอฟท์โลน คาดว่าเงิน ล็อตแรกจะส่งต่อไปถึงลูกหนี้ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งการทำซอฟท์โลนครั้งนี้ ธปท. ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง คือ 1. ธนาคารพาณิชย์ต้องกระจายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่ลูกหนี้รายใหญ่ ลูกหนี้เอสเอ็มอีต้องได้รับการดูแลเป็นลำดับแรก เพราะเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นแห่งจ้างงานสำคัญและมักไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน

2. ห้ามคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากดอกเบี้ยที่ 2% ทั้งนี้ ถ้าตรวจสอบพบว่า ธนาคารไหนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติม ธปท. จะเรียกคืนซอฟท์โลนทั้งหมด

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ มีสถาบันการเงินหลายแห่ง หลังจากได้รับซอฟท์โลน ดอกเบี้ยต่ำแล้ว นอกจากคิดอัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 2% ตามข้อกำหนดแล้ว ยังคิด ’เงินปากถุง’ ค่าธรรมเนียมอีกไม่ต่ำกว่า 2% เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ เข้าไปอีก ทั้งนี้ แบงก์ชาติ ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว

วิรไท บอกว่า ส่วนการที่สถาบันการเงินออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและหนี้เสียเพิ่มขึ้นหรือไม่ เขาระบุว่า ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ในประเทศแข็งแกร่ง เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 และวิกฤตการเงินโลก ปี 2550-2551 ธปท. ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ มีการดำเนินนโยบายหลายด้าน ส่งผลให้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุน มีเงินสำรองหนี้เสียในระดับสูงเป็นผลมาจากการสร้างกันชนที่เข้มแข็งตั้งแต่เกิดวิกฤตในอดีต

ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม รูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมจะเปลี่ยนไป จะเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) รูปแบบใหม่ๆ การเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล ทางด้านเทคโนโลยี (Digital based Globalization) จะมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งจะกลับมาคำนึงถึงเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น

ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การเคลื่อนย้ายคนจะมีบทบาทน้อยลง เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาที่ระดับเกือบ 40 ล้านคน เพราะทัศนคติการเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ คงเปลี่ยนไป

ด้านห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) เปลี่ยนไปเช่นกัน ควรมองหาซัพพลายเชนที่ใกล้ตัวมากขึ้นแทนที่จะต้องขนส่งไกลๆ หลายประเทศมีการพูดถึงการสร้างซัพพลายเชนในภูมิภาค เพราะมีโอกาสที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ได้ตลอดเวลาจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลที่คนส่วนใหญ่จะหันไปใช้กลไกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น, อุตสาหกรรมอาหารยังเติบโต คนจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงเรื่องอาหารมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก

ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเป็นวัตถุดิบจะได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานที่อยู่ในช่วงขาลง รวมทั้งกระแสการดูแลสุขภาพ อายุที่ยืนยาวขึ้นเป็นโอกาสทองสำหรับภาคธุรกิจ

วิรไท ประเมินว่า หลังวิกฤตครั้งนี้สิ่งแรกที่ควรทำมากที่สุด คือ การจัดสรรทรัพยากรใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทุน คน การจ้างงาน เครื่องมือเครื่องจักร ให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่นภาคการเงิน สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ หลักประกันต่างๆ ต้องให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากร

“เราต้องตระหนักว่าโลกใหม่จะไม่เหมือนเดิม ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์สิ่งสำคัญที่สุด คือ การจัดสรรทรัพยากรที่จะเอื้อให้เราไปสู่โลกใหม่ ถ้าปรับช้าจะยิ่งเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น กระทบความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว เวลานี้สิ่งสำคัญนอกจากการเยียวยา คือ การย้ายทรัพยากรจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ทั้งนี้ ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นแบบค่อยไปค่อยไปคล้ายกับ “เครื่องหมายถูกหางยาว” เพราะแม้ว่าสถานการณ์จะจบลง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยโจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะสามารถเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้เร็วแค่ไหน ถ้าสามารถปรับรูปแบบการทำธุรกิจได้เร็วจะทำให้การฟื้นตัวในระยะข้างหน้ากลายเป็นรูปแบบ “วีเชฟ” ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย

สำหรับความท้าทายของภาคการเงินหลังวิกฤตโควิด มาจากอัตราดอกเบี้ยที่จะต่ำต่อเนื่องไปอีกนาน ทำให้แรงจูงใจในการออมลดลง หนี้ยังอยู่ในระดับสูง เพราะตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 หนี้โดยรวมของโลกต่อจีดีพีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งหนี้ภาคธุรกิจ หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ซึ่งหลังโควิด-19 หนี้สาธารณะของแต่ละประเทศจะพุ่งสูงขึ้นมากจากการดำเนินนโยบายการคลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เมื่อหนี้เพิ่มขึ้นกันชนในระบบเศรษฐกิจจะลดลง

นอกจากนี้ ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีมากขึ้น เมื่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมากขึ้น ขณะที่ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ต้องเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างกันชนให้กับระบบการเงิน