‘ททท.’ ผุดแผนฟื้นฟูหลังโควิด ชี้เทรนด์ ‘FTT’ ทัวริสต์มาแรง

‘ททท.’ ผุดแผนฟื้นฟูหลังโควิด ชี้เทรนด์ ‘FTT’ ทัวริสต์มาแรง

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้หลายฝ่ายใจชื้นขึ้นได้บ้าง หลังภาครัฐดำเนินมาตรการล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางสังคมเพื่อเว้นระยะห่างของผู้คนจนเริ่มเห็นผล

ผู้บริหารระดับสูงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้ประชุมเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หารือเกี่ยวกับการปรับแผนงานของ ททท.เพิ่มเติม หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาร่วม 3 เดือน

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เล่าว่า ได้ประชุมร่วมกับรองผู้ว่าการ ททท.ทั้ง 8 ด้านใน 3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือการช่วยเหลือทางตรงและประสานงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ ผู้ประกอบการ ผู้ที่เปราะบางในซัพพลายเชนท่องเที่ยว เช่น ลูกจ้าง และช้างไทย เพื่อให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้

เรื่องที่ 2 การเตรียมความพร้อมแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ทั้งเรื่องการซ่อมสร้าง และการฟื้นฟูเพื่อกระตุ้นตลาด โดยได้ตั้งทีมเฉพาะกิจด้านต่างๆ เช่น ทีม New Normal, ทีมซ่อมสร้าง โฟกัสการจัดการด้านสุขอนามัย รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผ่านมา ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม การเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ความไม่ปลอดภัยต่างๆ, ทีมตลาดในประเทศ, ทีมตลาดต่างประเทศ, ทีมสื่อสารการตลาด, ทีมดิจิทัล และทีมบริหารองค์กร

“ททท.มองว่าหลังจากจบโควิด-19 แล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะปรับตัวไปสู่ New Normal หรือบรรทัดฐานใหม่ๆ บนพื้นฐานการเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว” 

อย่างเช่น แนวโน้มการเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ เน้นขับรถเที่ยวมากขึ้นสำหรับตลาดในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศอาจเห็นนักท่องเที่ยวแบบใหม่ “Fit to Traveling” (FTT) ฟิตก่อนเที่ยว หรือต้องมี Health Digital Passport เพื่อโชว์ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวคนนั้นๆ มีความพร้อมด้านสุขภาพ สามารถออกเดินทางได้ เบื้องต้นอาจดูจากอุณหภูมิร่างกาย และในช่วง 14 วันก่อนออกเดินทางไม่ได้มีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ นอกเหนือจากการถือพาสปอร์ตปกติ

และเรื่องที่ 3 ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีหลังจบวิกฤติโควิด-19 เพราะที่ผ่านมาท่องเที่ยวไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และจากประสบการณ์ในอดีตก็ชี้ว่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามคงต้องปรับแผนและเป้าหมายการทำงานของ ททท.ในปี 2564 กันอีกครั้ง เพื่อให้รายได้ท่องเที่ยวไทยมีอัตราการขยายตัวไม่น้อยกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนแคมเปญส่งเสริมการตลาดหลังจบโควิด-19 สำหรับตลาดในประเทศ ในระยะสั้นจะมุ่งกระตุ้นเพิ่มความถี่ในการเดินทาง คาดว่าคนไทยบางส่วนเริ่มรู้สึกอัดอั้น อยากออกมาเที่ยวให้สะใจ หลังมีข้อจำกัดด้านสาธารณสุขและการเดินทางเพื่อควบคุมโรค ททท.จึงเตรียมออกแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทยวิบวับ” เชิญชวนคนออกไปเที่ยวอย่างมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยคึกคัก

โดยได้มอบหมายให้ด้านตลาดในประเทศของ ททท.เร่งสร้างสรรค์รูปแบบและกิจกรรมท่องเที่ยวแปลกใหม่ ภายใต้พื้นฐาน New Normal ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนไปเที่ยว ด้วยการชูเรื่องอาหารถิ่น การประชุมสัมมนาและจัดกิจกรรมในท้องถิ่น พร้อมดึงส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจากตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศซึ่งปีที่แล้วมีราว 13 ล้านคน ให้เปลี่ยนใจ ออกไปบอกรักเมืองไทย

นอกจากนี้ยังเตรียมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มพลังบวก เช่น กิจกรรมทำบุญไหว้พระ, กิจกรรมเที่ยวดีแข็งแรงได้ ชูจุดขายเรื่องการเข้าคอร์สสุขภาพ, เที่ยวพาไทยยิ้ม เป็นกิจกรรมซีเอสอาร์พาผู้ด้อยโอกาสไปเที่ยว รวมถึงกิจกรรมตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ และโครงการอาสาพาเที่ยว พาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเที่ยวในประเทศ

ด้านตลาดต่างประเทศ จะใช้แคมเปญ “Book Now Travel Soon” โดย ททท.วางเป้าหมายการทำตลาดระยะไกลและใกล้แตกต่างกันหลังจบโควิด-19 เพราะยังต้องติดตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวว่าหลังจากนี้จะยังชอบเดินทางไกลๆ กันหรือไม่ จึงต้องใช้กลยุทธ์ในการรักษาฐานลูกค้าเดิมสำหรับตลาดระยะไกล เช่น จากยุโรปและอเมริกา ซึ่งรู้จักเมืองไทยดีอยู่แล้ว ด้วยการรุกดึงตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ คู่แต่งงานและฮันนีมูน ท่องเที่ยวเชิงกีฬา และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายดีให้เดินทางมาเที่ยวซ้ำ นอกจากนี้ยังเตรียมเจาะกลุ่ม LOH (Lifestyle of Health) ที่รักสุขภาพ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทาง

ขณะที่ตลาดระยะใกล้ในเอเชีย จะมุ่งดึงนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณอย่างมีคุณภาพ (Go Mass-Q) เพราะต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่เน้นเรื่องการเพิ่มความถี่ในการเดินทางได้ง่ายกว่าตลาดระยะไกล รุกเจาะกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น นักท่องเที่ยวจีน และกลุ่มอินเซนทีฟ (ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล) เพื่อกระตุ้นให้ภาคท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เร็ว โดยขณะนี้บางประเทศในตลาดระยะใกล้ เช่น จีน และเกาหลี เริ่มมีการสอบถามเรื่องการบินเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค.นี้แล้ว