'โควิด'สะเทือนยุทธศาสตร์ชาติ สภาพัฒน์ชงปรับใหม่รับมืออนาคต

'โควิด'สะเทือนยุทธศาสตร์ชาติ สภาพัฒน์ชงปรับใหม่รับมืออนาคต

สภาพัฒน์ เตรียมเสนอปรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลังโควิดส่งผลแรงตัวชี้วัดการเติบโตถูกกระทบทุกด้าน เศรษฐกิจหลายภาคส่วนกระทบหนัก ยานยนต์ ท่องเที่ยวรวมทั้งต้องประเมินเศรษฐกิจโลกด้วย

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะโฆษก สศช.เปิดเผยว่า สศช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอยู่ระหว่างการรวบรวมและศึกษาข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ว่าจะกระทบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างไรบ้างเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทยให้สอดคล้องกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบในด้านต่างๆที่จะตามมาหลังจากที่โควิด-19 คลี่คลายลง 

สำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้มีการวางแผนรองรับโรคอุบัติใหม่ไว้แล้วในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ในการออกแบบได้ใช้ประสบการณ์โรคอุบัติใหม่จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคซาร์ และโรคเมอร์ส ซึ่งผลกระทบของการระบาดจำกัดในแง่ของการแพร่ระบาดทั้งในเชิงพื้นที่และระยะเวลาของการแพร่ระบาดที่ไม่ได้กินเวลานานนัก แต่กรณีของโควิด-19 นั้นการแพร่ระบาดกินระยะเวลายาวนานกว่าและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่า 

นอกจากนั้นผลที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 ก็จะมีความรุนแรงและซับซ้อนกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 เนื่องจากการเกิดวิกฤติใน 2 ครั้งนั้นเมื่อเกิดความเสียหายแล้วเราเห็นความเสียหายที่ชัดเจนและมีแนวทางการแก้ปัญหาที่แน่ชัดว่าจะทำอย่างไรให้วิกฤติคลี่คลายได้ 

158710988017

ทั้งนี้ ในส่วนของวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาอยู่แล้วและการเกิดวิกฤติครั้งนี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยและกระทบกับเศรษฐกิจไทยในวงกว้างเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของเราได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมากและผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะกระทบต่อการประเมินผลและตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแต่การปรับยุทธศาสตร์ชาติก็จะยังคงเป้าหมายใหญ่ๆ เช่น การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จะยังคงไว้ 

นายดนุชา กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ถือว่ามีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าวิกฤติในครั้งอื่นๆที่สำคัญคือยังไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของโรคจะจบลงเมื่อใด และเมื่อจบแล้วหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้จะยังกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติหรือไม่ เพราะขณะนี้ก็มีหลายธุรกิจที่กระทบมากเช่น รถยนต์ที่เป็นเซ็คเตอร์หลักของเราก็ดีมานต์ช็อคไปเลยในช่วงนี้ ซับพายเชนก็กระทบ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารนั้นเดินต่อได้ แต่จะทำอย่างไรให้กระทบน้อยลง 

"ขณะที่บางธุรกิจก็กลับมาเหมือนเดิมได้ยาก เช่น ประชุมสัมนา หรือแม้แต่ท่องเที่ยว พวกนี้ก็ต้องดูว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่”นายดนุชา กล่าว 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า สศช.จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบทุกเดือน โดยล่าสุดได้รายงาน ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงความหน้า ณ เดือน ก.พ.2563  

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานได้เสนอปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ (Key Success Factors) และร่างโครงการที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็น การจัดให้มีช่องทางเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศเพิ่มเติม การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปี 2562 และการนำร่องการสร้างการตระหนักรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเปราะบาง (กลุ่มผู้พิการ ด้อยโอกาส เจ็บป่วย)

ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไป เช่น การนำเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทต่อที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศให้ความเห็นชอบ และดำเนินการสร้างการตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กเยาวชน นิสิตและนักศึกษา โดยเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นหุ้นส่วนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับคนทุกช่วงวัยให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดี เก่ง มีคุณภาพ และพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ