เปิดเมืองอย่างไร? ให้เศรษฐกิจขยับ - คุมไวรัสระบาดได้

เปิดเมืองอย่างไร? ให้เศรษฐกิจขยับ - คุมไวรัสระบาดได้

“ทีดีอาร์ไอ”แนะรัฐพิจารณารอบด้านก่อนเปิดเมือง ทยอยผ่อนเกณฑ์ แบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ให้ความรู้ประชาชน ดึงภาคส่วนทางสังคมช่วยวางมาตรการป้องกันสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า ก่อนเสนอมาตรการให้รัฐบาล ศบค.พิจารณา ป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” ในประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงตามลำดับจนเมื่อวันที่ 14 เม.ย.มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 34 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจและประชาชนบางส่วนให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการหรือ “เปิดเมือง”เพื่อให้เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันกลับมาดำเนินได้ตามในขณะที่ความเห็นอีกด้านหนึ่งก็มีผู้ที่กังวลว่าการผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไปอาจสุ่มเสี่ยงจะเพิ่มกลุ่มผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้นมาอีก

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นเรื่องการผ่อนคลายมาตรการต่างๆรวมถึงการเปิดเมืองไว้ในรายงานเรื่อง “เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้” ว่าขณะนี้หลายคนมีคำถามว่าหลังวันที่ 30 เม.ย.2563 ซึ่งเป็นวันที่สิ้นสุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจะเกิดอะไรขึ้น จะสามารกลับมาเปิดเมืองหรือเปิดธุรกิจต่างๆได้หรือไม่

แนวทางที่น่าจะสามารถทำไดมากที่สุดก็คือการเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแยกแยะสถานที่ที่ปัจจุบันถูกสั่งให้ปิดหรือให้ดำเนินการอย่างจำกัด ซึ่งปัจจุบันมี 34 ประเภทในพื้นที่ กทม. โดยพิจารณาจากประเด็นต่างๆ 3 ข้อได้แก่

1. มีความเสี่ยงตามธรรมชาติต่อการระบาดของเชื้อมากเพียงใด

2.สามารถมีมาตรการบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าวลงได้ด้วยต้นทุนที่ไม่มากเกินไปหรือไม่ ซึ่งจะเป็นมาตรการในรายละเอียดที่แตกต่างกันระหว่างประเภทกิจการ/กิจกรรม

และ 3.หากดำเนินการลดความเสี่ยงด้วยมาตรการที่ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกลับมาใกล้ปกติได้มากน้อยเพียงใด โดยการใช้เกณฑ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวต้องมีเหตุผลทางวิชาการ รวมทั้งด้านการระบาดวิทยาและการวิเคราะห์ประโยชน์และต้นทุนด้านเศรษฐศาสตร์ มารองรับ เช่น ความสามารถในการเว้นระยะห่าง การถ่ายเทของอากาศ พฤติกรรมของผู้ร่วมในกิจกรรม เป็นต้น

“โดยในระยะแรกของการเปิดเมืองมีข้อเสนอเบื้องต้นว่า ยังคงปิดสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างแออัดของคน รักษาระยะห่างยาก อากาศไม่ถ่ายเท พฤติกรรมของคนก็มักขาดการระมัดระวังหรือมีแนวโน้มไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการระบาด เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ผับ บาร์ การแสดงคอนเสิร์ต โรงภาพยนตร์ โต๊ะสนุ๊กเกอร์ และควรปิดบ่อนพนันต่างๆ ที่ผิดกฎหมายอยู่แล้วให้ได้ผลจริง เพราะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ”

ต่อมาในสถานที่ราชการและสถานประกอบการกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มให้บริการสาธารณะกับประชาชน เช่น สถานศึกษา พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด กลุ่มกิจการขนาดใหญ่ และกลุ่มกิจการขนาดเล็กของผู้ประกอบการชนชั้นกลางและรากหญ้า สำหรับกลุ่มแรก เสนอว่าให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดมาตรการในรายละเอียด ในการลดความเสี่ยงว่าต้องมีอะไรบ้าง เช่น ห้ามคนมีไข้เข้า ทุกคนต้องสวมหน้ากาก ต้องนั่งห่างกัน หมั่นล้างมือ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มกิจการที่มีขนาดใหญ่ ให้ทางสภาหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม เสนอแนวทางการป้องกันการระบาดที่เป็นรูปธรรมและมีรายละเอียดครบถ้วน ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจกรรม ตัวอย่าง เช่น สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ก็เสนอว่าห้างสรรพสินค้าจะทำอะไรบ้าง เช่น วัดไข้ลูกค้าทุกคนก่อนเข้าห้าง ถ้าพบไข้สูงจะไม่ให้เข้า จะจัดระเบียบการเดินซื้อของไม่ให้ใกล้ชิดกันเกิน 1.5 เมตร (ยกเว้นมาด้วยกัน) ต้องใส่หน้ากากทุกคน ทุกคนต้องหมั่นล้างมือด้วยเจลที่ห้างวางไว้ทุกระยะ 20 เมตร เป็นต้น โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยนำเสนอมาตรการรายละเอียดเหล่านี้ให้กับภาครัฐ ซึ่งจะทำการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาที่เป็นกลางว่าเพียงพอหรือไม่ เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันก็ทดลองอนุญาตให้เปิด แล้วทำการเก็บข้อมูลผลการระบาดที่เกิดจากการเดินห้าง

สำหรับกลุ่มที่มีความท้าทายที่สุดที่ภาครัฐจะเข้าไปช่วยกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงของการระบาดคือกลุ่มกิจการขนาดเล็กเพราะมีความหลากหลายมาก เช่น ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านอาหารขนาดเล็ก และเจ้าของอาจไม่มีความรู้หรือเงินทุนไปจ้างนักระบาดวิทยามาช่วยออกแบบมาตรการ กิจการเหล่านี้ควรมีหน่วยงานกลางที่อาจจะเป็นภาครัฐหรือมูลนิธิ มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัย เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมความเห็นในลักษณะ crowdsourcing ระดมความเห็นจากสังคมโดยรวมว่ากิจการแต่ละประเภทสามารถมีมาตรการลดความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรม ทำได้จริง อย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนที่การระบาดเริ่มควบคุมได้และเริ่มเปิดเมือง

โดยเริ่มอนุญาตให้คนเข้ามานั่งทานอาหารในร้านได้โดยถ้าเป็นร้านเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถรักษาระยะห่างระหว่างโต๊ะอาหารได้ ก็ให้ทำฉากกั้นระหว่างโต๊ะ เป็นต้น อาจมีการสร้าง platform ในการระดมความคิด เจ้าภาพมีหน้าที่รวบรวม แยกแยะข้อเสนอสำหรับกิจการแต่ละประเภท จากนั้นก็ให้นักระบาดวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ นักบริหารธุรกิจ เป็นผู้ประเมินว่าข้อเสนอที่รวบรวมมานี้มาตรการใดน่าจะได้ผลมากที่สุดโดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด  

ทั้งนี้เมื่อรวบรวมมาตรการได้ทั้งหมดสำหรับกิจการทุกประเภทแล้ว ก็ส่งต่อให้ภาครัฐเป็นผู้ประกาศใช้โดยอาจแบ่งออกเป็นมาตรการบังคับให้ทำและมาตรการที่แนะนำให้ทำ มีบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ทำตามมาตรการบังคับ จากนั้นก็ทำการทดลองใช้หลังวันที่ 30 เมษายนเป็นเวลาสัก 2 อาทิตย์ โดยในระยะแรกอาจไม่ใช้กับทั้งประเทศก็ได้ เลือกเฉพาะบางพื้นที่ เช่น บางเขตใน กทม. หรือบางจังหวัดมาเป็นพื้นที่ทดลอง โดยอาจทดลองในหลายพื้นที่และให้มีชุดมาตรการที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถประเมินผลว่าชุดมาตรการใดน่าจะได้ผลดีกว่า

 และเนื่องจากเชื้อไวรัสใช้เวลาในการฟักตัวเฉลี่ย 5-7 วัน เมื่อผ่านเวลาไป 2 อาทิตย์แล้วก็อาจสั่งให้ปิดเมืองเข้าสู่ระดับเดียวกับก่อนวันที่ 30 เมษายน แล้วนำข้อมูลการระบาดที่ได้จากแต่ละพื้นที่มาทำการศึกษาให้ได้ข้อสรุปก่อนว่าควรเดินหน้าต่อหรือไม่ ควรปรับมาตรการลดเสี่ยงอย่างไร ในระหว่างนั้นก็ควรมีมาตรการลดการเดินทางระหว่างเมืองลงเพื่อให้สามารถสรุปผลได้อย่างเที่ยงตรง อีกทั้งยังช่วยลดการแพร่ระบาดไปสู่พื้นที่อื่นด้วย

การเปิดเมืองสามารถทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ป้องกันการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างจนเอาไม่อยู่ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาทำงานได้ และที่สำคัญคือลดความเดือดร้อนของคนยากคนจนลง มาตรการภาครัฐในการเยียวยาเศรษฐกิจก็จะมีต้นทุนน้อยลงได้ด้วยเช่นกัน” นายสมชัยกล่าว

158686219151

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำก่อนจะเปิดกิจการต่างๆคือการให้ความรู้ประชาชนในด้านการป้องกันตัวเองในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ร่วมกันในครอบครัว ในหอพัก ในคอนโดมิเนียม หรือเมื่อไปซื้อของตลาดสด ร้านค้ามินิมาร์ท การเดินทางแบบไหนปลอดภัย เช่น การนั่งเรือที่อากาศถ่ายเทสะดวกมีความเสี่ยงน้อยกว่ารถเมล์แอร์ เป็นต้น ต้องกระจายความรู้นี้ไปสู่ทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มประชากร ทุกชั้นฐานะ และที่สำคัญต้องมีแนวทางสื่อสารที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนนำความรู้เหล่านี้มาใช้อย่างสมัครใจ และอย่างทั่วถึง

พร้อมกันนั้นต้องเพิ่มความครอบคลุมของมาตรการตรวจเชื้อ แกะรอย กักกัน เป็นสิ่งที่ต้องทำในทุกกรณีของการระบาด และต้องทำให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงไม่ให้มีโอกาสแพร่เชื้อ เรื่องการตรวจเชื้อนี้ทราบว่าศักยภาพของไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และน่าจะเพิ่มการตรวจได้มากขึ้นมากแม้จะยังไม่เท่ากับเกาหลีใต้และเยอรมัน แต่เรื่องการแกะรอยและการกักกันอาจจะยังต้องยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ตัวอย่างเช่นการใช้ระบบแพทย์ทางไกลในการคัดแยกว่าใครควรได้รับการตรวจ ใครควรกักกัน ซึ่งเป็นวิธีให้บริการประชาชนจำนวนมากโดยใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนน้อย และยังช่วยให้เข้าถึงชุมชนในพื้นที่ห่างไกลได้ด้วย