รวมเคสผิดหวัง 'เงินเยียวยา' 5,000 คลังย้ำให้ 'อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน'

รวมเคสผิดหวัง 'เงินเยียวยา' 5,000 คลังย้ำให้ 'อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน'

จากพ่อค้าปลาทูเผาร้านประชด AI สู่การขู่เผาตัวเองหน้ากระทรวงการคลัง ชวนส่องเคสประชาชนผิดหวัง ไม่ได้รับสิทธิ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท จากโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ด้านคลังแนะนำว่าให้เตรียม "อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน"

เกิดเหตุการณ์ประท้วงเล็กๆ ขึ้นมาทั้งในโลกโซเชียลและในโลกความจริง เหตุเพราะมีคนไทยส่วนหนึ่งต้อง 'ผิดหวัง' จากโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" มีหลายคนที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" และลงทะเบียนรับ "เงินเยียวยา" 5,000 บาทเอาไว้ แต่ผลที่คัดกรองออกมาดันไม่ได้รับสิทธิอย่างที่คิด จึงรู้สึกผิดหวัง โกรธ เศร้า โมโห จนทนไม่ไหวลุกขึ้นมาแสดงออกบางอย่างเพื่อให้สังคมได้รับรู้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมเคสประชาชนที่ผิดหวังกับระบบคัดกรองของโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งพวกเขาบางคนก็เป็นกลุ่มคนขับแท็กซี่ กลุ่มพ่อค้าแม่ขายตามตลาดทั่วไปที่รายได้หดหายจากวิกฤติโรคระบาดเช่นกัน แต่กลับที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง ไม่ได้รับสิทธิ "เงินเยียวยา" 5,000 บาทดังกล่าว

  • เคส1 : เผาร้านขายปลาทูประชด AI

ไม่กี่วันที่ผ่านมาเกิดกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลอีกครั้งกับกรณี "เผาร้าน" ของพ่อค้าขายปลาทู ประชดระบบคัดกรองของโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ที่คัดกอรงได้ผลออกมาแบบผิดจากที่คาดหวังไว้ โดยระบบบอกว่าหนุ่มขายปลาทูรายนี้ไม่ได้รับสิทธิ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท ทำให้เกิดความน้อยใจจนตัดสินใจเผาแผงร้านขายปลาทูของตัวเองพร้อมโพสต์คลิปวิดีโอระบุถึงความไม่เป็นธรรมของระบบคัดกรองดังกล่าว

โดยพ่อค้าขายปลาทูได้พูดแสดงความรู้สึกผ่านคลิปวิดีโอดังกล่าวด้วยว่า ตอนนี้คนทำมาหากินนั้นเดือดร้อนมาก คนที่มีอาชีพค้าขายตามตลาดนัด แต่ตลาดนัดถูกสั่งปิดก็ขายไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ ลงทะเบียนไว้ก็มาโดนระบบ AI ปัดตก หลายคนไม่ได้รับเงิน ไม่ใช่แค่ตนเองคนเดียว บอกให้รอยื่นอุทธรณ์แต่ต้องจ่ายเงินคนที่ได้ชุดแรกให้ครบก่อน ความเดือดร้อนรอกันได้ที่ไหน บางคนลงทะเบียนกรอกข้อมูลเก่ง รู้ว่าต้องกรอกแบบไหนแล้วได้เงิน แต่คนที่กรอกข้อมูลตามความเป็นจริงกลับไม่ได้รับ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท  

อีกทั้งเขายังได้เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจลงมาดูความเดือดร้อนของประชาชนที่เดือนร้อนจริงๆ ด้วย ทั้งนี้ เจ้าตัวได้ราดน้ำมันก่อนจะจุดไฟเผาร้านขายปลาทูของตัวเองจนวอด โดยที่มีคุณแม่เข้ามาห้ามแต่ไม่เป็นผล

เหตุการณ์นี้เกิดเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่เห็นใจพ่อค้าหนุ่มคนดังกล่าว และในแง่ตั้งคำถามต่อระบบคัดกรองการไม่ได้รับสิทธิ  "เงินเยียวยา" 5,000 บาท กันอย่างกว้างขวาง

158686646969

  • เคส2 : ขู่แก้ผ้า ขู่เผาตัวเอง หน้ากระทรวงการคลัง

หลังกระทรวงการคลังทยอยส่งผลการลงทะเบียนไปยังประชาชน เพื่อแจ้งว่าใครได้รับสิทธิและไม่ได้รับสิทธิ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท จากนั้นไม่นานก็มีกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท รวมตัวกันมาร้องทุกข์ที่หน้ากระทรวงการคลัง แต่พวกเขาต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อพบว่าบริเวณจุดร้องทุกข์ถูกยกเลิก และมีป้ายติดไว้ว่าให้ไปยื่นอุทธรณ์ในระบบออนไลน์หรือสายด่วนแทน

เมื่อเกิดความผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนในกลุ่มที่เดินทางมายังกระทรวงการคลังบางส่วน เริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจออกมา พร้อมกันเรียกร้องขอพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอฟังคำอธิบาย โดยบรรยากาศของการร้องเรียนหน้ากระทรวงฯ มีทั้งการตะโกนขู่จะเผาตัวเองหน้าทำเนียบรัฐบาล มีทั้งขู่จะแก้ผ้าประท้วง ส่วนอีกรายก็ร้องไห้ออกมาด้วยความอัดอั้น ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ต้องควบคุมสถานการณ์เอาไว้ไม่ให้กลุ่มผู้เรียกร้องทำอะไรรุนแรง

จนในที่สุดมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังได้ลงมาชี้แจงกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจนเหตุความวุ่นวายสงบลง แต่อารมณ์และความผิดหวังของประชาชนยังมีอยู่ พบว่าปัญหาและข้อเรียกของพวกเขามีรายละเอียดหลายอย่างแตกต่างหกันไป เช่น บางคนเป็นคนค้าขายรายเล็กๆ ที่ถูกกระทบจากคำสั่งปิดตลาด แต่เมื่อลงทะเบียนกลับได้รับแจ้งว่าเป็นเจ้าของกิจการ, บางคนขับแท็กซี่แต่ระบบแจ้งว่าเป็นเกษตรกร เป็นต้น

158686647077

  • เคส3 : ป้าขายกับข้าว ถูกเปลี่ยนอาชีพเป็นเกษตรกร

ป้าขายกับข้าวรายนี้ก็เป็นอีกรายที่ลงทะเบียน "เราไม่ทิ้งกัน" เอาไว้ แต่ปรากฏว่าระบบแจ้งว่า "ไม่ได้รับสิทธิ" แถมยังถูกเปลี่ยนอาชีพจากแม่ค้าขายกับข้าวไปเป็นเกษตรกร โดยป้าขายกับข้าวได้นำอุปกรณ์การหาเลี้ยงชีพพวกเตาแก๊ส กระทะ หม้อ ตะหลิว กะละมัง ออกมากองไว้พร้อมบอกว่านี่คือสิ่งของที่เอาไว้ทำมาหากิน แต่ตอนนี้ไม่มีประโยชน์แล้ว เป็นแม่ค้าขายกับข้าวมีแต่หม้อไหจานชาม พริก กระเทียม ตะไคร้ ไม่เคยมีจอบเสียมเอาไว้ไปทำนา ตอนนี้เดือนร้อนมาก ขายกับข้าวไม่ได้ จะให้รอไปถึงไหน ไม่มีเงินมาซื้อข้าวกินกันแล้ว ระบบตรวจสอบกันแบบไหน ไม่มีกินจนจะตายกันหมดแล้ว (ที่มา: https://www.facebook.com/100011459417540/videos/1157726751285961/)

158694271956

  • เคส4 : สาวแว่นช่างเสริมสวย ถูกเปลี่ยนอาชีพเป็นเกษตรกร

ผู้เดือนร้อนจากระบบคัดกรองโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" รายถัดมาเป็นเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งในภาคใต้ เธอเองก็ไม่ได้รับสิทธิ เงินเยียวยา 5,000 บาทเช่นกัน โดยถูกระบบเปลี่ยนอาชีพจากอาชีพให้บริการร้านเสริมสวยเป็นอาชีพเกษตรกร ซึ่งเธอยืนยันว่าตนเองเปิดร้านเสริมสวยมาหลายปี ไม่เคยทำอาชีพเกษตรกร ไม่มีไร่นาแม้สักผืนเดียว ตอนนี้ปิดร้านเสริมสวยมา 15 วันแล้ว ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรจะกินประทังชีวิต แถมยังโดนตัดสิทธิอีก เธอจึงมาระบายความอัด อั้นผ่านคลิปวิดีโอ พร้อมบอกว่าเงิน 5,000 บาทนั้นตนไม่ง้อก็ได้ จะไปทำมาหากินเอง จะเริ่มเปิดร้านเสริมสวยอีกครั้ง เพราะขืนอยู่ทนต่อไปก็ไม่มีเงินจะซื้อข้าวกินแล้ว (ที่มา: https://www.facebook.com/100010232372235/videos/1131037283914007/)

158694271924

  • เคส5 : ป้าเพ็ญขู่ฆ่าตัวตาย ร้องไห้หน้ากระทรวงฯ

ส่วนเคสป้าเพ็ญ เป็นเคสที่เป็นกระแสมาแรงในโลกโซเชียลเช่นกัน โดยป้าเพ็ญมีอาชีพขายของที่ตลาดนัด และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" เนื่องจากตลาดปิดตามคำสั่ง ศบค. ทำให้ป้าเพ็ญขายของไม่ได้ ขาดรายได้เลี้ยงชีพ แถมยังถูกตัดสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยระบบระบุว่าป้าเพ็ญเป็นผู้ประกอบการ ที่ยังมีรายได้ ซึ่งป้าเพ็ญเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เดินทางไปร้องเรียนที่หน้ากระทรวงการคลัง ขณะที่อยู่ที่หน้ากระทรวงก็ได้ร้องไห้ออกมาอย่างอัดอั้น และพูดระบายความในใจออกมาว่า

"ทำไมรัฐไม่ช่วย แน่จริงเปิดตลาดให้ขายของสิ จะได้ไม่ต้องมาง้อเงิน 5,000 หลานก็ต้องกินนม ได้เงินจากบัตรคนจนเพียง 300 บาทนั้นไม่เพียงพอ เพราะค่านมเด็กก็ตกเดือนละ 600 บาทแล้ว ตอนนี้ลำบากมาก ไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อน้ำกิน จะกินน้ำส้วมอยู่แล้ว ลงทะเบียนไม่เป็นก็ให้คนอื่นเขาลงทะเบียนให้ อยากขอให้เห็นใจ ถ้าตนเองไม่มีเงินจริงๆ ก็อาจจะซื้อยามาผสมกินกันทั้งครอบครัวเพื่อฆ่าตัวตาย" (ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=C1ujtFEw9tI)

158694437891

  • กระทรวงการคลังย้ำ คนไม่ได้รับสิทธิให้ไป “อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน” 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว นายลวรณ​ แสงสนิท​ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)​ ระบุว่า ขอประชาสัมพันธ์ฝากไปยังผู้ที่ต้องการเดินทางมาร้องเรียนเรื่องการรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลที่ศูนย์อาหารกระทรวงการคลังนั้น ขอความร่วมมือไม่จำเป็นต้องมาที่กระทรวงการคลัง​ โดยระบบการลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com​ จะมีการเพิ่มปุ่มเพื่อ “อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน” ในสัปดาห์หน้า ประมาณวันที่ 19 เมษายน 2563 จึงขอแนะนำให้ทำการอุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านระบบ online เท่านั้น 

ทั้งนี้​ ระหว่างนี้หากประสงค์จะร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา 5,000 บาทขอให้ติดต่อ call center ของธนาคารกรุงไทย 021111144 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ call center ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 022739020 (เฉพาะวันและเวลาราชการ)

158686794712

----------------------

อ้างอิง :

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/875903

https://www.komchadluek.net/news/hotclip/427353?utm_source=homepage&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=hotclip

https://www.facebook.com/111685333826745/posts/117191626609449/?vh=e&d=n