เปิดขั้นตอน 'อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน' เตรียมตัวให้พร้อม! ได้ยื่นไม่เกิน 22 เม.ย.นี้

เปิดขั้นตอน 'อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน' เตรียมตัวให้พร้อม! ได้ยื่นไม่เกิน 22 เม.ย.นี้

ยันใช้เวลาตรวจสอบ "อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน" ไม่เกิน 1 สัปดาห์เพื่อดูแลทุกคนให้ครอบคลุมที่สุดด้วยกระบวนการที่รวดเร็วที่สุด ย้ำรัฐพยายามดูแลทุกคนทุกกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

หลังจากที่มีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะเปิดให้ผู้ที่ลงทะเบียน เราไม่ทิ้งกัน แล้วถูกตัดสิทธิสามารถส่งเรื่องร้องเรียนเพื่อพิจารณารับเงินเยียวยา 5,000 บาทอีกครั้ง จนทำให้ในช่วงเช้าวันที่ 14 เมษายน 2563 มีผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของระบบไปชุมนุมกันเพื่อ อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน เป็นจำนวนมากที่กระทรวงการคลัง ซึ่งทางกระทรวงการคลังเองก็ได้ออกมาชี้แจงว่า เตรียมเปิดให้กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยายื่นอุทธรณ์สิทธิ์หลังคัดกรองทั้ง 27 ล้านคนแล้ว เสร็จในสัปดาห์หน้า ด้วยระบบคัดกรองที่มีมาตรฐานตามฐานข้อมูลที่มีอยู่

โดยตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 13 เมษายน 2563 กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงผ่าน เพจสถานีข่าวกระทรวงการคลัง ถึง การอุทธรณ์ ผลการพิจารณาเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จะเริ่มเปิดให้ดำเนินการเฉพาะทางออนไลน์ ทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น ในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณวันที่ 19 - 22 เมษายน 2563 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันการระบาดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังยืนยันกับรายการ Newsroom ห้องข่าวเศรษฐกิจ ทางเนชั่นทีวีว่า ประชาชนที่ต้องการอุทธรณ์นั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะมีการเพิ่มปุ่มเพื่อ อุทธรณ์ ในสัปดาห์หน้า ขอแนะนำให้ทำการอุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านระบบ online จะถูกต้อง และรวดเร็วที่สุด

นอกจากนั้น เขายังได้เผยขั้นตอน อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน ว่า จะมีการเปิดเมนู อุทธรณ์ ขึ้นในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการยื่นอุทธรณ์เข้าไปกรอกข้อมูลโดยยืนยันว่า ไม่มีความซับซ้อน หรือยุ่งยาก เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ได้มีการลงทะเบียนเอาไว้แล้ว

"ท่านอาจจะบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับผลการตัดสิน อาชีพที่แท้จริงคือแบบนี้ สถานที่ตั้งร้านค้าอยู่ตรงนี้ เท่านี้ เพราะว่า การไปเช็คจากฐานข้อมูลต่างๆ เราได้ผ่านการคัดกรองมารอบหนึ่งแล้ว"

โดยในเมนูการยื่นอุทธรณ์นั้นยังเปิดโอกาสให้สำหรับผู้ที่เข้าใจผิดไปกดยกเลิกรับสิทธิ์เพื่อที่จะลงทะเบียนใหม่ จนทำให้ลงทะเบียนไม่ได้ และเสียสิทธิ์ไปโดยไม่เจตนา รวมทั้งในกรณีอื่นๆ สามารถเข้าไปยื่นอุทธรณ์ได้ทุกคน

สำหรับขั้นตอนหลังจากลงทะเบียนยื่นอุทธรณ์เราไม่ทิ้งกันเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กลไกการตรวจสอบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปหาตัวตนของบุคคลที่ยื่นเรื่องอุทธรณ์จริงๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ยืนยันเช็คว่าผ่าน ระบบก็จะทำการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยในการแก้ปัญหาการตรวจสอบ โดยอาจจะแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ แล้วแยกกันลงไปดู เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูลความผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังยังกล่าวอีกว่า ข้อมูล อุทธรณ์เราไม่ทิ้งกัน ที่เข้ามาแต่ละวันจะถูกแจกจ่ายไปยังพื้นที่ในทันที โดยยืนยันว่าจะพยายามทำทุกขั้นตอนของการอุทธรณ์ให้จบโดยเร็วที่สุด ไม่ช้าไปกว่าวันอังคารหน้า (วันที่ 21 เมษายน 2563) แต่หากเสร็จเร็วกว่านั้นได้ วันจันทร์ หรือวันอาทิตย์ก็จะเปิดเมนูให้ใช้งานในทันที

"มาตรการเยียวยา 5,000 บาทที่ดำเนินการมา ผมเชื่อว่ายังมีคนที่ตกหล่นอยู่ ซึ่งคนกลุ่มที่ตกหล่นนั้นจะต้องมีมาตรการของรัฐบาลมาดูแลคนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกเหนือจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทอีกด้วย" เขาทิ้งท้าย

158685347949

สำหรับการตรวจสอบคัดกรอบผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน ในรอบแรกกว่า 7.99 ล้านรายที่ผ่านมา กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์มีอยู่ราว 4.78 ล้านราย โดยส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์​ เนื่องจากได้รับการดูแลผลกระทบจาก Covid-19 โดยรัฐบาลผ่านช่องทางอื่น​ เช่น ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ผู้ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม เกษตรกร เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งยังคงมิได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก และส่วนหนึ่งได้รับการดูแลผ่านช่องทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกลุ่มที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ผู้ค้าขายออนไลน์ เป็นต้น