สสว.ห่วงเอสเอ็มอี 87% รายได้ลดลง 33% ยังไม่มีแผนปรับตัว

สสว.ห่วงเอสเอ็มอี 87% รายได้ลดลง 33% ยังไม่มีแผนปรับตัว

สสว. เปิดเผยสำรวจ SME พบวิกฤติโควิด-19 ฉุด SME กว่า 87% มีรายได้ลดลง ระบุ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าเป็นห่วงมีถึง 33.5% ที่ยังไม่มีแผนปรับตัว แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเช่น เพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การผ่อนผันชำระหนี้

     นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ในเรื่องการปรับตัวและมาตรการ SME ในภาวะวิกฤตไวรัสโควิด–19 ในช่วงเดือนมี.ค.2563 จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี SME ทั่วประเทศ จำนวน 2,655 ราย จาก 21 สาขาธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น ภาคการผลิต จำนวน 545 ราย ภาคการค้า จำนวน 997 ราย และภาคการบริการ 1,113 ราย

     โดย จากผลสำรวจพบว่า SME ยอดขายของกิจการในเดือนมี.ค.2563 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2562 กิจการส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 87.2% หรือมีจำนวนมากถึง 2,315 ราย ตอบว่ามียอดขายลดลง ซึ่งมี SME สัดส่วนถึง 27.6% มีรายได้ลดลงน้อยกว่า 20% SME 27.3% มีรายได้ลดลง 21-40% SME 20% มีรายได้ลดลง 41-60% SME 8.5% มีรายได้ลดลง 61-80% และ SME 3.8% มีรายได้ลงลงมากกว่า 80% โดยสาขาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ร้านอาหารที่ยังไม่เข้าร่วมเดลิเวอรี่ และอุปโภคบริโภคดั้งเดิม

     ดังนั้น สสว. จึงได้สำรวจสอบถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเรื่องของการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการ SME ที่มียอดขายลดลงทั้ง 2,315 ราย ส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนในการปรับตัว คิดเป็นสัดส่วน 33.5% รองลงมา คือ การลดต้นทุนทางธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วน 18.8% เพิ่มช่องทางการตลาด เช่น ออนไลน์ และเดลิเวอรี่ คิดเป็นสัดส่วน 12.8% หยุดกิจการชั่วคราว 8.5% จัดโปรโมชั่น 6.2% ลดจำนวนแรงงานและลดเงินเดือน 5.4% เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นหรือหารายได้เสริม 4.7% ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ 3.8% ปรับราคาสินค้าและบริการ 3.7% ปรับไปตามแต่ละสถานการณ์ 1.4% และอื่นๆ 1.2%

     “จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึง 33.5% ยังไม่มีแผนปรับตัวรับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงอาจจะไม่สามารถปรับตัวให้รอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ดังนั้น สสว. จะให้ศูนย์บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ทำการสำรวจและรับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือ SME รวมถึงส่งต่อผู้ประกอบการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อไป”

     สำหรับมาตรการที่ผู้ประกอบการ SME เห็นว่า สามารถช่วยธุรกิจ SME ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีที่สุด พบว่ามาตรการที่ผู้ประกอบ SME ต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. การลดหย่อนภาษี คิดเป็นสัดส่วน 19.7% 2. ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คิดเป็นสัดส่วน 14.4% 3. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คิดเป็นสัดส่วน 10.2% 4. ผ่อนผันระยะเวลาการชำระหนี้ คิดเป็นสัดส่วน 8.2% และ5. ลด/เลื่อนค่าสาธารณูปโภค คิดเป็นสัดส่วน 6.1%

     ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือ SME ที่รัฐบาลได้ประกาศออกมา 12 มาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กรณีวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 จากผลสำรวจ พบว่า 7 อันดับแรกที่ผู้ประกอบการชอบมากที่สุด ได้แก่ 1.มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ คิดเป็นสัดส่วน 19% 2. มาตรการลดและเลื่อนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ คิดเป็นสัดส่วน 16.7% 3. มาตรการปล่อยกู้ ดอกเบี้ย 2% เวลา 2 ปี ไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% 4. มาตรการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วน 11.8% 5. มาตรการลด เลื่อน ชะลอ การเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าที่จ่ายให้ภาครัฐ คิดเป็นสัดส่วน 8.5% 6. มาตรการเร่งคืน VAT ให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 5.8% และ7. มาตรการเร่งรัด เบิกจ่ายเงินงบประมาณ คิดเป็นสัดส่วน 4.5%

     “สสว. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอของเอสเอ็มอีทั้งหมด ไปประมวลรวบรวมเพื่อปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อให้ผ่านพ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อออกมาเป็นมาตรการช่วยเหลือต่างๆต่อไป”