โควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ อย่าชะล่าใจผู้ติดเชื้อลดลง

โควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ อย่าชะล่าใจผู้ติดเชื้อลดลง

ช่วง 2-3 วันนี้ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในในไทยลดลงต่ำกว่า 100 ราย แต่ยังไม่ใช่สัญญาณที่จะชะล่าใจ ในทางทฤษฎีพื้นที่ที่ปัญหาลดลงแล้ว ต้องไม่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เลย 14 วันติดต่อกัน ดังนั้นมาตรการต่างๆ ยังต้องดำเนินไปอย่างเคร่งครัดและเข้มข้นมากขึ้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก และในไทยยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อรวม 1,697,354 ราย เสียชีวิตทะลุ 100,000 รายไปแล้ว ส่วนประเทศไทยเองนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า วานนี้ (10 เม.ย.) ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 50 ราย รวมยอดสะสม 2,473 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 33 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 73 ราย รวมผู้ติดเชื้อที่หายกลับบ้านแล้ว 1,013 ราย

แม้ในช่วงวันสองวันมานี้ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันจะมีอัตราที่ลดลงต่ำกว่า 100 ราย แต่ก็ยังไม่ใช่สัญญาณที่เราจะชะล่าใจ และปล่อยปละ ละเลย การปฏิบัติตัวที่เข้มงวดมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา อย่างที่นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ถึงจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันจะลดลงต่ำกว่า 100 ราย ก็ไม่ใช่เวลาที่จะตีปีก หรือผ่อนคลายมาตรการใดๆ เพราะมาตรการต่างๆ เป็นเพียงการชะลอและลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลง ซึ่งตัวเลขตอนนี้ “ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ” ยังต้องลดจำนวนผู้ป่วยลงให้น้อยที่สุด

มาตรการหลายอย่างที่เราเคยเคร่งครัดในช่วงที่ผ่านมา ต้องทำต่อไป และอาจต้องมีความเข้มข้น ยกระดับมากขึ้นด้วยซ้ำ ความเข้มงวดเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม ระยะห่างระหว่างบุคคล ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่เช่นนั้น ถ้าเราชะล่าใจไม่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เหมือนอย่างที่เคย เราอาจจะเจอตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับที่สูงขึ้นเป็นหลักร้อย จนไม่สามารถควบคุมได้ แปลว่า เราต้องมานั่งนับหนึ่งเริ่มต้นกันใหม่ 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่า ในทางทฤษฎีการจะบอกว่า พื้นที่ใดปัญหาลดลงแล้ว คือ ต้องไม่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เลย 14 วันติดต่อกัน นับตั้งแต่วันที่เจอผู้ป่วยรายสุดท้าย ถ้าพบผู้ป่วยรายใหม่อีก ก็ต้องเริ่มนับใหม่ โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติขึ้นใหม่ เป็นโรคทางเดินหายใจที่มีอาการอื่นๆ ที่ประชาชนสามารถสังเกตได้ เพียงแต่ว่าต้องหมั่นดูแลตัวเอง สังเกตอาการต่างๆ ลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เราเป็นได้ทั้งคนแพร่เชื้อ และติดเชื้อ

แน่นอนว่าวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ยังไม่จบลงง่ายๆ และคาดการณ์ได้ยากว่าจะจบลงเมื่อไหร่ มาตรการหลายเรื่องของรัฐที่ออกมาทั้งด้านการรักษาความปลอดภัยของประชาชน การประกาศเคอร์ฟิว การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมา และการห้ามในลักษณะอื่นๆ ที่จะมีความสุ่มเสี่ยงให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เรายังต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มข้น ต้องมีวินัย เสียสละ อดทน เพื่อให้หน่วยงานซึ่งเป็นผู้กับดูแล แก้ไข เขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น 

ขณะที่ภาคธุรกิจเอง วิกฤติครั้งนี้อาจร้ายแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เราเห็นว่า มาตรการของรัฐในการช่วยพยุงภาคธุรกิจในทุกๆ กลุ่ม รวมถึงการเยียวยาภาคประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำอยู่แล้วเมื่อประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างหนัก แต่ในทางกลับกันภาคธุรกิจ และประชาชนเอง ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นเฉพาะตัว เพื่อรองรับภาวะวิกฤติครั้งนี้ควบคู่กันไปด้วย แผนรับมือต่างๆ ต้องพร้อมทั้งระยะสั้น ระยะยาว และวันต่อวัน การดำเนินการต่างๆ ต้องรัดกุม และพร้อมที่จะปลุกธุรกิจขึ้นมาให้เดินต่อได้อีกครั้งเมื่อวิกฤติครั้งนี้จบลง