‘เทมาเส็ก’พอร์ตหุ้นไทยวูบ 6 หมื่นล้าน เผยปีนี้ขายทิ้ง 7 หุ้นใหญ่

‘เทมาเส็ก’พอร์ตหุ้นไทยวูบ 6 หมื่นล้าน เผยปีนี้ขายทิ้ง 7 หุ้นใหญ่

‘เทมาเส็ก’ ถือครองหุ้นไทยลดลง 6 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 หลังเทขาย 7 หุ้นใหญ่ นำโดย ‘ธนาคารกรุงเทพ - ปตท.สผ.’ ขณะที่เก็บ 2 หุ้นไอพีโอยักษ์ใหญ่อย่าง ‘แอสเสทเวิรด์ - เซ็นทรัล รีเทล’ ล่าสุด มูลค่าพอร์ตอยู่ที่ 2.24 แสนล้าน

พอร์ตลงทุนของ ‘เทมาเส็ก โฮลดิงส์’ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ในตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.84 แสนล้านบาท เมื่อปี 2562 แต่ในปัจจุบันพบว่า มูลค่าพอร์ตลงทุนได้ลดลงไปถึง 6 หมื่นล้านบาท

จากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนล่าสุดในปี 2563 จะเห็นว่ามูลค่าพอร์ตของเทมาเส็กที่ลดลงไป เกิดมาจากทั้งราคาหุ้นส่วนใหญ่ที่ลดลง และการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบางตัว และขณะเดียวกันก็ได้เข้าซื้อหุ้นบางตัวเพิ่มเช่นกัน

การถือครองหุ้นไทยของเทมาเส็ก โดยหลักจะดำเนินการผ่าน GIC Private Limited ขณะที่การถือครองหุ้นอย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) จะถือผ่าน Singtel ซึ่งยังคงเป็นสัดส่วนการลงทุนหลักของเทมาเส็กในตลาดหุ้นไทย คิดเป็นมูลค่าราว 1.66 แสนล้านบาท

โดยภาพรวมแล้วทั้ง GIC และ Singtel ถือครองหุ้นไทยอยู่ทั้งสิ้น 25 บริษัท ในขณะนี้ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.24 แสนล้านบาท สำหรับหุ้นน้องใหม่ที่เข้ามาอยู่ในพอร์ต คือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ในสัดส่วน 0.51% และ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ในสัดส่วน 7.08% ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการถือครอง 968 ล้านบาท และ 9.15 พันล้านบาท ตามลำดับ

158635211494

ในทางกลับกัน ระยะเวลา 6-8 เดือนที่ผ่านมา นับจากช่วงปิดสมุดทะเบียนล่าสุดเมื่อปลายปี 2562 ของหุ้นส่วนใหญ่ที่กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ถือครอง พบว่า มีหุ้นถึง 7 บริษัท ที่กองทุน GIC เทขายออกไปจนสัดส่วนการถือครองไม่ปรากฎอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะต้องมีสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป คิดเป็นมูลค่าที่ลดลงไปรวมเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท

ADVANC เป็นหุ้นที่ GIC ขายออกไปด้วยมูลค่ามากสุด 4.45 พันล้านบาท (อิงราคาหุ้น ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดก่อนจะไม่ปรากฎชื่อ) จากที่ถือครองอยู่ 0.69% ถัดมาคือ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดสัดส่วนลงจากเดิมที่ถือ 1.02% มูลค่า 3.23 พันล้านบาท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จากเดิมถือ 0.54% มูลค่า 2.66 พันล้านบาท บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จากเดิมถือ 0.97% มูลค่า 1.67 พันล้านบาท บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) จากเดิมถือ 0.6% มูลค่า 1.18 พันล้านบาท บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO-R) จากเดิมถือ 0.61% มูลค่า 1.13 พันล้านบาท และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH-R) จากเดิมถือ 0.54% มูลค่า 592 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ลดสัดส่วนการถือครอง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) จากเดิมถือ 0.73% มูลค่า 470 ล้านบาท

สำหรับหุ้นอื่นๆ ที่ GIC และ Singtel ยังคงถือครองอยู่นั้น พบว่ามีการลดสัดส่วนการถือครองลงมาเช่นกัน อย่างล่าสุดคือกรณีของหุ้น INTUCH ซึ่งมีรายงานการขายหุ้น Big lot บนกระดานปกติและกระดานต่างประเทศรวม 11 รายการ จำนวน 135.2 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 45.12 บาท มูลค่ารวม 6,100.22 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายโดยกลุ่มเทมาเส็ก หลังการทำบิ๊กล๊อตครั้งนี้ ทำให้กลุ่มเทมาเส็ก เหลือหุ้นใน INTUCH ราว 5.2%

ส่วนหุ้นอื่นๆ ที่ GIC ลดสัดส่วนการถือครองลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ลดสัดส่วนจาก 7% มาเหลือ 0.51% ขณที่มูลค่าการถือครองลดลงจาก 8.95 พันล้านบาท เหลือ 425 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเกิดจากราคาหุ้นที่ลดลงด้วย บมจ.ปตท. (PTT) ลดสัดส่วนจาก 0.89% มาเป็น 0.59% ขณที่มูลค่าการถือครองลดลงจาก 1.15 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 6.47 พันล้านบาท บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดสัดส่วนจาก 1.87% มาเหลือ 1.37% ส่วนมูลค่าถือครองลดลงจาก 7.58 พันล้านบาท เหลือ 3.13 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันในช่วงระหว่าง 1 ปีที่ผ่านมา เทมาเส็กก็ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบางส่วนเช่นกัน อาทิ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยถือครองเพิ่มขึ้นจาก 0.84% เป็น 1.12% แต่มูลค่าการถือครองยังคงลดลงจาก 3.47 พันล้านบาท เป็น 2.80 พันล้านบาท เนื่องจากราคาหุ้น SCB ที่ปรับตัวลดลงจาก 122 บาท มาเป็น 73.75 บาท เช่นเดียวกับหุ้น บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ซึ่งถือครองเพิ่มขึ้นจาก 1.48% เป็น 1.76% ส่วนมูลค่าการถือครองลดลงจาก 1.01 หมื่นล้านบาท เหลือ 9.86 พันล้านบาท

บล.ทิสโก้ มองว่า การขายหุ้น INTUCH ของกลุ่มเทมาเส็กผ่าน บิ๊กล็อต เทียบเท่า 4.22% ของหุ้นทั้งหมด ที่ราคา 45.2 – 46.3 บาท คิดเป็นส่วนลด 2% – 4.5% จากราคาตลาด ทำให้ราคาหุ้นลดลง 2.58% สวนทางตลาดที่เพิ่มขึ้น 6.68% เมื่อ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ราคาหุ้นที่ 45 – 46 บาท เป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน เนื่องจากปัญหาด้านสภาพคล่องจะหมดไป โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เทมาเส็ก เหลือหุ้น INTUCH 9.42% และหาก Temasek จบการขายและขายหุ้นต่ำกว่า 4% ให้กับ Singtel จะทำให้สภาพคล่องของ INTUCH ในตลาดเพิ่มขึ้น และทำให้ความเสี่ยงในมุมนี้ลดลง

นอกจากนี้ ภายหลังการเทขายหุ้น 2 ครั้งที่ผ่านมาของเทมาเส็ก ราคาหุ้น INTUCH กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.4 – 14.4% ในช่วง 30 วันให้หลัง และด้วยการปรับตัวที่แย่กว่าตลาดมากในวันก่อน ทำให้เรามองว่ามีโอกาสรีบาวด์สูง

ส่วนกลุ่มธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เทมาเส็กลดสัดส่วนลงไปมากในช่วงที่ผ่านมา บล.ทิสโก้ ระบุว่า ได้มีการทดสอบงบดุลของกลุ่มธนาคารว่าจะทนทานต่อสถานการณ์เสี่ยงได้มากแค่ไหน โดยมองในมุมของผลกระทบจากองค์ประกอบย่อยแทน จากสมมติฐานที่ว่าหาก NPL เพิ่มขึ้นถึง 11% ธนาคารจะต้องเพิ่มทุน โดยสามารถสรุปได้ว่า ทุกธนาคารยกเว้น BBL และ KBANK อาจต้องเพิ่มทุนภายใต้ NPL ที่ 11% และธนาคารจะประสบผลขาดทุนจนทำให้ CAR ต่ำกว่าที่ ธปท. กำหนด ทั้งนี้ NPL เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มทุน

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ NPL จะเพิ่มขึ้นมาจากหลายด้าน อีกทั้งยังมีนโยบายการเงินและการคลังเข้ามาหนุน และมีเหตุผลน้อยที่จะเกิดเหตุการณ์แบบในปี 2540 เนื่องจากในปัจจุบันสินเชื่อมีการกระจายตัวที่สูง และสินเชื่อส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน หากภาคธุรกิจยังสามารถดำเนินงาน และรักษาสภาพทางการเงินได้จะเป็นปัจจัยหนุนรายได้และการจ้างงานภาคครัวเรือน และในปัจจุบันยังมีเครื่องมืออีกหลายด้านเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ