นายกฯสั่งหาช่องส่งออกข้าวเพิ่ม

นายกฯสั่งหาช่องส่งออกข้าวเพิ่ม

นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมครม.ให้หาทางส่งออกข้าวเพิ่ม หลังทั่วโลกเจอวิกฤติโควิด-19 พร้อมขยายวงเงินสินเชื่อชะลอข้าวเปลือกเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)กำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสส่งออกข้าวไทยไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อาจทำให้ความสามารถการผลิตของแต่ละประเทศลดลงและมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบความต้องการในประเทศ

ขณะเดียวกัน ครม.ได้อนุมัติขยายสินเชื่อโครงการชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 62/63 อีก 5,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินสินเชื่อโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านบาท จากเดิม 10,000 ล้านบาท และเพิ่มเป้าหมายปริมาณการชะลอขายข้าวเปลือกเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับเกษตรกรร่วมโครงการเกินเป้า พร้อมกันนี้ให้ขยายระยะเวลาการทำสัญญาให้สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 2563 สำหรับภาคใต้ขยายถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 ก.พ. 2563และเห็นชอบให้จัดสรรวงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกปีการผลิต2562/63 วงเงินรวม 682.86 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอจัดสรรวงเงินงบประมาณประจำปี 2564 และปีถัดๆ ไป ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ชำระเงินชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ต่อปี และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงกรณีที่มีการระบายข้าว ได้แก่ ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าวเปลือก และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว

อีกทั้งยังเห็นชอบให้จัดสรรค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกโครงการฯ (เพิ่มเติม) วงเงินรวม 750 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณข้าวเปลือกโครงการเป็น 1.5 ล้านตัน เพื่อจ่ายเป็นค่าฝากเก็บรักษาคุณภาพข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร ตันละ 1,500 บาท และสถาบันเกษตรกรที่รับฝากไว้ ตันละ 1,500 บาท แบ่งออกเป็นสถาบันเกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ฝากข้าวได้รับตันละ 500 บาท ซึ่งต้องเก็บข้าวไว้อย่างน้อย 1 เดือน ระยะเวลาไถ่ถอน 5 เดือน โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ผลการดำเนินโครงการ ณ วันที่ 24 ก.พ. 2563 มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ขอสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท และมีปริมาณข้าวเปลือกรวม 1.45 ล้านตัน ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยังเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางและมีความประสงค์ขอรับสินเชื่อตามโครงการฯ เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและราคาข้าวเปลือกเหนียวยังคงมีความผันผวนครม.จึงมีมติดังกล่าว