“อุตตม” คาดหนี้ต่อจีดีพีจะขยับเป็น57%ในปีหน้า

“อุตตม” คาดหนี้ต่อจีดีพีจะขยับเป็น57%ในปีหน้า

"อุตตม"คาดระดับหนี้ต่อจีดีพีหลังกู้เงิน​1 ล้านล้านบาทจะขยับขึ้นเป็น​57%ในปีหน้า​ ขณะที่​ เล็งขยายกรอบเพดานการก่อหนี้​เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการก่อหนี้​

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาล ในปี 2564 ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 57 % จากปัจจุบันอยู่ที่ 42 % ของ จีดีพี โดยประมาณการการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ตามที่ธปท.ประเมินจะอยู่ที่ ลบ 5.3 % และ บวก 3 % ในปีหน้า


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการก่อหนี้ ทางคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะพิจารณากรอบดังกล่าวให้มีความยืดหยุ่นชั่วคราว

“ถือว่า มีเหตุผลที่จะขยายกรอบเพดานการก่อหนี้ เพราะระดับการก่อหนี้ที่ไม่เกิน 60%ต่อจีดีพีนั้น จะนำมาใช้ในช่วงเวลาปกติ แต่ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ปกติ จำเป็นต้องใช้งบพิเศษมาดูแลเศรษฐกิจและประชาชน ฉะนั้น ความยืดหยุ่นต้องมี ส่วนจะขยายกรอบเป็นเท่าไหร่กำลังดูอยู่”

ทั้งนี้​ ขนาดของวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 5 % ของจีดีพีถือว่าเป็นขนาดที่สมเหตุสมผล กับขนาดของวิกฤตในครั้งนี้ และหากรวมวงเงินที่ใช้เงินของ ธปท.อีก 9 แสนล้านบาทแล้ว เม็ดเงินรวมที่จะใช้ในการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งนี้จะรวมเป็น 1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 9 % ของจีดีพี


สำหรับขั้นตอนของ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หลังจากผ่าน ครม.แล้ว จะต้องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา แล้วนำกลับมาครม.อนุมัติอีกครั้ง ก่อนที่จะทูลเกล้า คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเม.ย.นี้ และนับจากต้นเดือน พ.ค.จะสามารถเริ่มต้นกู้ได้ โดยกระทรวงการคลังสามารถทยอยกู้ แต่จะต้องไม่เกิน 30 ก.ย.2564

สำหรับเหตุผลที่ ครม.ขยายวงเงินเยียวยาให้ลูกจ้างชั่วคราว และคนอาชีพอิสระ ที่เดิมมีมติให้ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็น 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้น เพราะยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องผลกระทบโควิด-19 ว่าจะยาวนานเพียงใด ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินเยียวยาราว 2 แสนล้านบาท

สำหรับการจัดตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund เพื่อช่วย Roll Over ให้กับตราสารหนี้ของเอกชนนั้น เขากล่าวว่า จะมีการจัดตั้งกลไกเพื่อดูแล โดยจะคณะกรรมการนโยบายกองทุน ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีตัวแทนของ ธปท. กลต. และสบน.ร่วมเป็นกรรมการ  เพื่อกำหนดนโยบายกองทุน โดยมีผู้จัดการกองทุนดูแลการบริหารจัดการ  และภายใต้คณะกรรมการนโยบาย จะมีคณะกรรมการการลงทุน เพื่อดูการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายที่เหมาะสม