กรมประมงคุมเข้มปากพนัง ป้องประมงผิดกฎหมาย

กรมประมงคุมเข้มปากพนัง ป้องประมงผิดกฎหมาย

กรมประมงสั่งคุมเข้มอ่าวปากพนัง 24 ชม. หลังพบเจ้าหน้าที่ตรวจการประมงถูกเรือประมงผิดกฎหมายพุ่งชนหวิดดับ

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าจากกรณีหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปากพนังออกปฏิบัติหน้าที่กู้เครื่องมืออวนรุน (เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย) บริเวณพื้นที่อ่าวปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกชาวประมงขับเรือหางยาวพุ่งชนได้รับบาดเจ็บจำนวน 1 นาย และเรือตรวจการประมงทะเล 210 ได้รับความเสียหาย เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 กรมประมงได้ส่งชุดปฏิบัติการทั้งทางบกและทะเลลงพื้นที่สร้างการรับรู้ความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  ตลอดจนการตรวจตราและป้องปรามเพื่อมิให้เกิดการทำประมงผิดกฎหมาย

 

โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 2 (สงขลา) เคลื่อนย้ายกำลังพลอย่างเร่งด่วนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปากพนัง ในการบูรณาการร่วมแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเข้มข้นในพื้นที่อ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่กรมประมงลงพื้นที่สร้างกระบวนการรับรู้และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายพร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำผิดที่และคำนึงถึงความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานในพื้นที่โดยแบ่งกำลังพลออกเป็น 2 ชุด ดังนี้

  1. 1. ชุดปฏิบัติการทางทะเล : ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้เรือตรวจการประมง มีภารกิจหลัก คือ การตรวจตราบังคับใช้กฎหมายตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นไปตามพรก.ประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กลุ่มชาวประมงส่วนใหญ่ที่ทำประมงด้วยเครื่องมือประมงถูกกฎหมายอุ่นใจในวิถีการทำประมง
  2. 2. ชุดปฏิบัติการทางบก : ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้รถยนต์ของทางราชการ มีภารกิจหลัก คือ การลงพื้นที่สร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และพบปะพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชนในพื้นที่เป้าหมายทุกกลุ่ม

ในส่วนรายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากการรายงาน พบว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 19.00 น.ที่ผ่านมา หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปากพนังได้รับการประสานจากสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอสนับสนุนเรือตรวจการประมงและกำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้ารื้อถอนลอบพับ (ไอ้โง่) หลังได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการใช้เครื่องมือประมงดังกล่าวลักลอบทำประมงอย่างผิดกฎหมายหมายบริเวณพิกัดทุ่น 8 –  ทุ่น 9 พื้นที่อ่าวปากพนัง ทางหน่วยฯ

จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจการประมงจำนวน 3 นาย พร้อมเรือตรวจการประมงทะเล 210 ออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าว แต่ระหว่างเดินทางไปตามพิกัดเป้าหมายได้ตรวจพบเรือยนต์ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุน (เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย) เมื่อเรือประมงดังกล่าวเห็นเรือของเจ้าหน้าที่จึงทิ้งเครื่องมือและแล่นเรือหนีเข้าบริเวณน้ำตื้น เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจุดทำการประมงพบคันอวนรุนประกอบถุงอวน           จึงดำเนินการเก็บกู้เครื่องมือประมงของกลางเพื่อลากกลับหน่วยฯ ระหว่างนั้นพบเรือหางยาวประมาณ 3 ลำแล่นตามเรือเจ้าหน้าที่ทางหัวหน้าชุดจึงได้สั่งการให้ลูกเรือตัดเชือกที่ลากจูงเครื่องมือประมงออก ขณะนั้นมีเรือหางยาว 1 ลำ ได้เร่งเครื่องยนต์เข้าพุ่งชนบริเวณกราบซ้ายด้านหลังของเรือตรวจการประมงทะเล 210 อย่างแรงทำให้นายธนพล มูลสังข์ พนักงานประมงพื้นฐาน บ.2 เจ้าหน้าที่ตรวจการประมงได้รับบาดเจ็บจำนวน 1 นาย ซึ่งจากการเข้ารักษาพยาบาล พบว่า ฟันกรามล่างขวาหักทั้งหมด 2 ซี่ และมีแผลฉีกขาดบริเวณแก้มและภายในช่องปากแพทย์ทำการเย็บบาดแผลจำนวนทั้งสิ้น 13 เข็ม ส่วนเรือตรวจการประมงทะเล 210 ได้รับเสียหาย กระปุกเรือขาด ฐานโรบาร์หลุด และโรบาร์บางส่วนฉีกขาดคดงอเสียรูป

  158624186066

              สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐานพร้อมเข้าแจ้งความกับทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพนังและพร้อมสนธิกำลังร่วมกับทางตำรวจเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทางกฎหมายเรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตรวจการประมงที่ได้รับบาดเจ็บรายดังกล่าว ซึ่งทราบว่ามีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านได้ร่วมเดินทางไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้เรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้น เรายังเห็นภาพความร่วมมือดีๆ ที่คอยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ประมงให้มีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

“เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดไหน
ของประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมประมงหรือชาวประมงเราก็ล้วนแต่เป็นพี่น้องร่วมชาติเดียวกันทั้งสิ้น ไม่อยากเห็นภาพการใช้กำลังทำร้ายกันอย่างรุนแรงจนอีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต  
ขอให้หันมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล กรมประมงยินดีรับฟังข้อคิดเห็นของท่านในทุกเรื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการร่างมาตรการต่างๆ กรมประมงได้เชิญตัวแทนชาวประมงผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆ เข้ามาร่วมพิจารณาให้ข้อคิดเห็นร่วมกันเพื่อให้มาตรการต่างๆ เป็นที่ยอมรับจากพี่น้องชาวประมง “